ทำความรู้จักประเภทของรางไฟ และการติดตั้งสายไฟสำหรับรางไฟ

2021 - 03 - 18

ประเภทของรางไฟ

 

รางไฟ คืออะไร?

รางไฟหรือรางเดินสายไฟนั้นเป็นสิ่งใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องความเป็นระเบียบแล้ว รางไฟยังสามารถช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไฟช็อต ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว หรือการก่อตัวของไฟไหม้ ดังนั้นการมีรางไฟจึงเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ และยังช่วยป้องกันปัญหาความร้อนที่สูงเกินไปของสายไฟได้ด้วย

 

ประเภทของรางไฟ และการติดตั้งสายไฟสำหรับรางไฟแต่ละชนิด

เมื่อพูดถึงรางไฟก็แน่นอนว่าต้องมาควบคู่กับการเดินสายไฟ ซึ่งสายไฟ และรางไฟต้องมีความสัมพันธ์กันเพื่อความปลอดภัยในการติดตั้ง และใช้งาน โดยจะแบ่งการติดตั้งสายไฟไปตามประเภทหลัก ๆ ของรางไฟซึ่งได้แก่ ราง wireway, รางเคเบิ้ลเทรย์ และรางเคเบิ้ลแลดเดอร์ มาเรียนรู้ได้จากบทความของ อ.ลือชัย ทองนิล (ประธานสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์)

 

1. รางวายเวย์ (ราง wireway)

รางวายเวย์ หรือ รางเดินสายไฟ จะมีลักษณะเป็นรางปิดมิดชิด โดยจะสามารถป้องกันฝุ่นละออง และสัตว์เล็ก ๆ ได้ดี แข็งแรง ทนทาน ส่วนใหญ่ทำจากเหล็กพ่นด้วยสีฝุ่น Epoxy ป้องกันการเกิดสนิมได้ดี สามารถใช้ได้ทั้งในโรงงานและอาคารบ้านเรือน ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง แต่ถ้าจะใช้กลางแจ้งต้องเป็นชนิดกันฝน ข้อดีของรางวายเวย์ คือสามารถเดินสายไฟฟ้าได้จำนวนมาก

 

การติดตั้งราง wireway

1. เลือกใช้รางเดินสายไฟที่มีความแข็งแรง จับยึดทุกระยะไม่เกิน 3 เมตร หากกรณีติดตั้งในแนวดิ่งอาจเพิ่มระยะจับยึดเป็น 4.5 เมตร

2. ห้ามต่อรางตรงจุดที่เป็นผนังหรือพื้น เพราะสถานที่ติดตั้งต้องสามารถตรวจสอบ และบำรุงรักษาได้อย่างสะดวก

3. ห้ามใช้รางเป็นสายดิน แต่รางต้องมีความต่อเนื่องทางไฟฟ้าตลอดตามความยาวของราง

4. ในรางวายเวย์สามารถเดินสายไฟได้ทุกชนิด ทุกขนาด รวมทั้งสายดิน ควรระวังพื้นที่หน้าตัดของสาย รวมฉนวนทุกเส้นต้องไม่เกิน 20% ของพื้นที่หน้าตัดรางวายเวย์ และจำนวนสายที่มีกระแสไหลไม่ควรเกิน 30 เส้น

 

2. รางเคเบิ้ลเทรย์แบบระบายอากาศ

รางเคเบิ้ลเทรย์แบบระบายอากาศ จะเป็นรางไฟที่มีช่องระบายอากาศ การติดตั้งสายไฟฟ้า และการบำรุงรักษาทำได้ง่าย ทำจากเหล็กพ่นด้วยสีฝุ่น Epoxy เพื่อป้องกันการเกิดสนิมได้ดี สามารถใช้ได้ทั้งโรงงานและอาคารทั่วไป เหมาะกับการเดินสายไฟจากหม้อแปลงไฟฟ้ามาที่ MDB จะมีหลายขนาดให้เลือกใช้ตามความต้องการ รางเคเบิ้ลเทรย์จะมีความแข็งแรงกว่ารางวายเวย์ อีกทั้งยังสามารถเดินสายไฟฟ้าได้จำนวนมาก

 

การติดตั้งรางเคเบิ้ลเทรย์

1. เลือกใช้รางที่มีความแข็งแรงไม่เสียรูป จับยึดตามความเหมาะสม

2. สถานที่ติดตั้งรางไฟเคเบิลเทรย์ต้องมีที่ว่างเพียงพอที่ตรวจสอบ และบำรุงรักษาได้สะดวก

3. รางเคเบิ้ลเทรย์ต้องมีความต่อเนื่องตลอดความยาวทั้งทางกล และทางไฟฟ้า

4. ห้ามใช้รางเคเบิ้ลเทรย์เป็นสายดิน การติดตั้งภายในอาคารจำเป็นต้องใช้สายไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติต้านเปลวเพลิงด้วย

 

ชนิดของสายไฟฟ้าที่วางบนรางเคเบิ้ลเทรย์

1. สายเคเบิ้ลชนิดเอ็มไอ (mineral insulated cable), ชนิด MC (metal-clad cable) และ ชนิด AC (armored cable)

2. สายเคเบิ้ลแกนเดียวชนิดมีเปลือกนอกทั้งในระบบแรงสูงและแรงต่ำ และขนาดไม่เล็กกว่า 25 ตร.มม.

3. สายดินทุกขนาด

4. สายเคเบิ้ลหลายแกนในระบบแรงสูงและระบบแรงต่ำทุกขนาด

5. สายชนิดหลายแกนสำหรับควบคุมสัญญาณและไฟฟ้ากำลัง

6. ท่อร้อยสายชนิดต่าง ๆ

 

การเดินสายไฟฟ้าในรางเคเบิ้ลเทรย์

สายไฟฟ้าที่วางในรางเคเบิ้ลเทรย์ทำได้ 3 แบบ คือ

  • วางแบบเรียงชิดติดกัน
  • ระยะห่างกันเส้นเว้นเส้น
  • แบบสามเหลี่ยม

 

3. รางเคเบิ้ลแลดเดอร์

รางเคเบิ้ลแลดเดอร์ หรือรางไฟแบบขั้นบันได จะมีลักษณะเป็นขั้น ๆ บันได โดยจะมีผนังด้านข้าง การติดตั้งสายไฟฟ้าและบำรุงรักษาต้องทำได้ง่าย ทำจากเหล็กพ่นด้วยสีฝุ่น Epoxy เพื่อป้องกันการเกิดสนิมได้ดี สามารถใช้ได้ทั้งโรงงานและอาคารทั่วไป แต่ส่วนมากที่นิยมกันจะเป็นแบบชุบกัลวาไนซ์ เหมาะสำหรับติดตั้งภายนอกอาคาร ทนแดด ทนฝน และใช้งานได้ยาวนาน เหมาะกับการเดินจากหม้อแปลงไฟฟ้ามาที่ MDB จะมีหลายขนาดให้เลือกใช้ตามความต้องการ รางเคเบิ้ลแลดเดอร์จะมีความแข็งแรงกว่ารางวายเวย์ สามารถเดินสายไฟฟ้าได้จำนวนมาก 

การติดตั้งรางเคเบิ้ลแลดเดอร์ 

1. เลือกใช้รางที่มีความแข็งแรงไม่เสียรูปจากการใช้งาน จับยึดตามความเหมาะสม 

2. สถานที่ติดตั้งต้องให้มีที่ว่างเพียงพอเพื่อตรวจสอบ และบำรุงรักษาได้สะดวกตลอดความยาวของราง 

3. รางเคเบิ้ลแลดเดอร์ต้องมีความต่อเนื่องตลอดความยาวทั้งทางกลและทางไฟฟ้า แต่ห้ามใช้รางเป็นสายดิน

4. การติดตั้งภายในอาคารต้องใช้สายไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติต้านเปลวเพลิงด้วย
 

สายและจำนวนสายไฟฟ้าในรางเคเบิ้ลแลดเดอร์

ชนิดของสายไฟฟ้าที่วางบนรางเคเบิ้ลแลดเดอร์มีดังนี้

1. สายเคเบิ้ลชนิด MI (mineral insulated cable) , ชนิด MC (metal-clad cable) และ ชนิด AC (armored cable)

2. สายเคเบิ้ลแกนเดียวชนิดมีเปลือกนอกทั้งในระบบแรงสูงและแรงต่ำ และขนาดไม่เล็กกว่า 25 ตร.มม.

3. สายดินทุกขนาด

4. สายเคเบิ้ลหลายแกนในระบบแรงสูงและระบบแรงต่ำทุกขนาด

5. สายชนิดหลายแกนสำหรับควบคุมสัญญาณและไฟฟ้ากำลัง

6. ท่อร้อยสายชนิดต่าง ๆ

 

การเดินสายไฟฟ้าในรางเคเบิ้ลแลดเดอร์

สายไฟฟ้าที่วางในรางเคเบิ้ลแลดเดอร์ทำได้ 3 แบบ คือ 

  • วางแบบเรียงชิดติดกัน 
  • แบบมีระยะห่างกันเส้นเว้นเส้น
  • แบบสามเหลี่ยม

 

ในการเลือกใช้วิธีการเดินสายไฟนั้นจะต้องคำนึงถึงทั้งในด้านความสะดวกในการติดตั้ง การบำรุงรักษา และความปลอดภัย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้วย และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ จะต้องสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยทั้งการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยอมรับด้วย เพื่อความปลอดภัยสูงสุด รวมถึงการใช้รางไฟที่มีคุณภาพของ KJL ก็จะช่วยในเรื่องของความปลอดภัย สินค้าแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้ในระยะยาว ขอบคุณที่มาของบทความดี ๆ จาก อ.ลือชัย ทองนิล (ประธานสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์)


หากวิศวกรไฟฟ้า หรือช่างไฟท่านใดต้องการ ตู้คอนโทรล รางไฟ คุณภาพดี ตรงตามมาตรฐาน สามารถดูรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 
KJL LINE Official Account: @KJL.connect