ช่างไฟต้องรู้! ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้ากับการป้องกันไฟดูด

ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้ากับการป้องกันไฟดูด

ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว และไฟช็อต เป็นอุบัติเหตุทางไฟฟ้าที่ช่างไฟฟ้าและวิศวกรพบเจอบ่อยครั้ง สาเหตุหนึ่งเกิดจากฉนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุด เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทมีการห่อหุ้มฉนวนที่แตกต่างกันตามลักษณะการใช้งาน การเข้าใจประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าตามลักษณะฉนวนจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงานทางไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในบทความนี้จะมาแนะนำว่าการแบ่งลักษณะการป้องกันทางไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง ตามมาตรฐาน IEC 60536 รวมถึงประเภทของฉนวนที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท

ประเภทของฉนวนที่ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้า

ลักษณะของฉนวนที่ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้า อ้างอิงตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2564 สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

  • ฉนวนมูลฐาน (Basic Insulation): ฉนวนที่จำเป็นอันดับแรกสำหรับหุ้มส่วนที่มีไฟ เพื่อการป้องกันไฟฟ้าดูด
  • ฉนวนเพิ่มเติม (Supplementary Insulation): ฉนวนที่แยกโดยอิสระเพิ่มเติมจากฉนวนมูลฐาน เพื่อให้ยังคงสามารถป้องกันไฟฟ้าดูดในกรณีที่ฉนวนมูลฐานเกิดชำรุดขึ้นมา
  • ฉนวนสองชั้น (Double Insulation): ฉนวนที่ประกอบด้วยฉนวนมูลฐานและฉนวนเพิ่มเติม
  • ฉนวนเสริม (Reinforced Insulation): ฉนวนเนื้อเดียวหรือฉนวนหลาย ๆ ชั้น ที่สามารถป้องกันไฟฟ้าดูดได้เทียบเท่ากับฉนวนสองชั้น

โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดจำเป็นต้องมีฉนวนมูลฐานเป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าสัมผัสกับร่างกายของมนุษย์ได้โดยตรง

ประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวกับการป้องกันไฟดูด

เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามมาตรฐาน IEC 60536 ได้มีการแบ่งประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าตามลักษณะการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าออกเป็น 5 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

เครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท 0

เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 0 เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเพียงฉนวนมูลฐาน และไม่สามารถที่จะต่อสายดินเข้ากับส่วนของเปลือกที่เป็นโลหะได้ ซึ่งปัจจุบันมาตรฐานสากลไม่รับรองให้ผลิตมาใช้งานแล้ว

เครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท 0I

เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 0I เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉนวนมูลฐานเป็นอย่างน้อยและมีขั้วสำหรับการต่อสายดินที่เปลือกโลหะไว้แล้ว แต่ใช้สายไฟฟ้าและเต้าเสียบที่ไม่มีสายดิน โดยในปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ถูกห้ามไม่ให้วางจำหน่ายด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

เครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท I

เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท I นอกเหนือจากมีฉนวนมูลฐานแล้ว ยังมีการป้องกันไฟฟ้าดูดด้วยการต่อสายดินจากส่วนที่เป็นเปลือกโลหะให้ลงดินเข้ากับสายดินของการติดตั้งทางไฟฟ้า ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ส่วนมากมักเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, เครื่องทำน้ำอุ่น, เตาไมโครเวฟ เป็นต้น

โทรศัพท์บ้าน หนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท III

เครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท II

เครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท II คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ฉนวนสองชั้น หรือฉนวนเสริม โดยไม่ต้องมีการต่อสายดิน ซึ่งโดยส่วนมากเปลือกห่อหุ้มภายนอกจะทำจากวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น พลาสติก เพื่อรองรับการใช้งานที่ต้องสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นประจำ โดยตัวอย่างของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท II ได้แก่ ไดร์เป่าผม, โทรทัศน์, เครื่องดูดฝุ่น, กาน้ำร้อนไฟฟ้า เป็นต้น

เครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท III

เครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท III เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แรงดันไฟฟ้าต่ำพิเศษขั้นปลอดภัย (Safety Extra-Low Voltage, SELV) ซึ่งมีแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับไม่เกิน 50 โวลต์ โดยจะต้องจ่ายผ่านหม้อแปลงนิรภัยชนิดแยกขดลวด ทำให้เครื่องใช้ประเภทนี้ไม่ต้องมีสายดิน และสามารถสัมผัสได้อย่างปลอดภัย อาทิ เครื่องชาร์จโทรศัพท์มือถือ, อะแดปเตอร์แล็ปท็อป, โทรศัพท์ตั้งโต๊ะ เป็นต้น

โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 0I, ประเภท II และประเภท III จะใช้สัญลักษณ์กำกับบนอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าตามสัญลักษณ์เหล่านี้

สัญลักษณ์กำกับประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า

การติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เหมาะสมกับประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉนวนแตกต่างกัน จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้งานและช่างไฟที่ต้องปฏิบัติงานซ่อมบำรุงในอนาคต และนอกจากการติดตั้งระบบสายดินเพิ่มเติมสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท I แล้ว การจัดระเบียบสายไฟโดยการติดตั้งภายในรางวายเวย์หรือราง Cable Tray จะช่วยให้การเดินสายไฟในอาคารสำนักงาน ห้องควบคุม หรือพื้นที่อื่น ๆ มีความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากสายไฟที่ฉีกขาดหรือชำรุด ซึ่งอาจนำไปสู่ไฟรั่วหรือไฟฟ้าลัดวงจรที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น
สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 

LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo

Facebook: facebook.com/KJLElectric

Related Article บทความสาระน่ารู้อื่น ๆ

ทัลคัม หรือ แป้งทัลคัมคืออะไร? อันตรายจริงไหม

ทัลคัม หรือ แป้งทัลคัมคืออะไร? อันตรายจริงไหม

ป้ายสัญลักษณ์ความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม Safety Sign

สารหน่วงไฟ Flame Retardant คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร