รูปแบบและลักษณะการติดตั้งสายไฟฟ้า สำหรับระบบแรงต่ำ

2022 - 12 - 07

การเดินสายไฟ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ
 
 
มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2564 หรือ วสท. 0220012-22 ได้กำหนดรูปแบบและวิธีการเดินสายในระบบแรงต่ำไว้ในบทที่ 5 ข้อกำหนดการเดินสายและวัสดุ โดยรูปแบบและลักษณะการติดตั้งจะมีความสัมพันธ์กับชนิดและประเภทของสายไฟฟ้า ทำให้วิศวกรไฟฟ้ามีเกณฑ์เพื่อพิจารณาและออกแบบงานระบบไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม รวมทั้งช่างไฟฟ้าสามารถติดตั้งและเดินสายในระบบแรงต่ำให้เกิดความปลอดภัย ทั้งนี้สายไฟฟ้าที่ขนาดของสายเท่ากันและชนิดเดียวกัน เมื่อถูกนำมาเดินสายในกลุ่มลักษณะการติดตั้งที่แตกต่างกัน ค่าความสามารถในการนำกระแสของสายดังกล่าวก็จะมีค่าที่ไม่เท่ากัน
 
 

วิธีการเดินสายไฟ

โดยมาตรฐาน วสท. 022001-22 ได้จำแนกวิธีการเดินสายออกเป็น 7 กลุ่ม ตามลักษณะการติดตั้ง ได้แก่
 
  • การเดินสายไฟในช่องเดินสาย (กลุ่มที่ 1 หรือ 2) 

  • การเดินสายไฟเกาะผนังหรือเพดาน (กลุ่มที่ 3) 

  • การเดินสายไฟบนฉนวนลูกถ้วยในอากาศ (กลุ่มที่ 4) 

  • การเดินสายไฟในท่อฝังดิน (กลุ่มที่ 5) 

  • การเดินสายไฟสายฝังดินโดยตรง (กลุ่มที่ 6) 

  • การเดินสายไฟบนรางเคเบิลแบบมี/ไม่มี ฝาปิด ทั้งแบบด้านล่างทึบ แบบระบายอากาศ หรือแบบบันได (กลุ่มที่ 7) 

 

ซึ่งสายไฟฟ้าที่ถูกพิจารณาออกแบบเพื่อใช้ในเดินสายในระบบแรงต่ำจะต้องมีความเหมาะสมกับลักษณะการติดตั้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน ได้แก่ตัวนำทองแดงหุ้มฉนวน มี/ไม่มีเปลือกนอก สายแกนเดียวหรือหลายแกน, ฉนวนชนิดพีวีซีที่อุณหภูมิตัวนำ 70˚C, ฉนวนครอสลิงกด์พอลิเอ-ทิลีนที่อุณหภูมิตัวนำ 90˚C โดยทั่วไปสายไฟที่เป็นที่นิยมและถูกนำมาออกแบบเพื่อใช้งานและเดินสายติดตั้งจะมีรหัสเคเบิลได้แก่ 60227 IEC 01, 60227 IEC 10, NYY, VCT, CV (IEC 60502-1) และสายที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆสำหรับวงจรช่วยชีวิต หรือวงจรไฟฟ้าเฉพาะที่สำคัญต่อความปลอดภัย เช่น สายทนไฟ, สายไร้ฮาโลเจน และสายควันน้อย เป็นต้น

 

ตัวอย่างเช่นกรณีออกแบบให้เดินสายในรางเคเบิล (กลุ่มที่ 7) สายไฟต้องเป็นชนิดหุ้มฉนวนมีเปลือกนอกเท่านั้น และมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเฉพาะสายเคเบิลแกนเดียวที่ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 25 ตร.มม. แต่สามารถออกแบบและติดตั้งได้ทุกขนาดสำหรับสายเคเบิลหลายแกน โดยค่าความสามารถในการนำกระแสสูงสุดของสายเคเบิลแรงต่ำในรางเคเบิลต้องเป็นไปตามตารางที่ 5-30 ถึง 5-33 (หน้าที่ 5-44 ถึง 5-49, วสท. 022001-22) ข้อสังเกตสำหรับการออกแบบเดินสายในรางเคเบิลข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อสายไฟฟ้าขนาดที่เท่ากันถูกออกแบบและติดตั้งให้เดินสายบนรางเคเบิลที่มีลักษณะและเงื่อนไขที่เหมือนกัน ขนาดกระแสของสายไฟฟ้าตัวนำทองแดงหุ้มฉนวนพีวีซี (PVC) มีเปลือกนอก (ตารางที่ 5-30 และ 5-31) จะมีค่าน้อยกว่าขนาดกระแสของสายไฟฟ้าตัวนำทองแดงหุ้มฉนวนครอสลิงกด์พอลิเอทิลีน (XLPE) มีเปลือกนอก (ตารางที่ 5-32 และ 5-33) เช่นสายเคเบิลแกนเดียวมีเปลือกนอก ชนิด NYY ขนาด 240 ตร.มม. ออกแบบและติดตั้งให้วางบนรางเคเบิลไม่มีฝาปิด แบบระบายอากาศ ลักษณะการจัดเรียงเคเบิลแบบวางชิดติดกัน ชนิด 3 เฟส และมีจำนวนตัวนำกระแส 1 กลุ่มวงจร ที่อุณหภูมิโดยรอบ 40˚C จะมีค่าขนาดกระแสของสายไฟดังกล่าวที่ 441 A (ตารางที่ 5-30) แต่ถ้ากำหนดให้สายไฟที่ใช้ติดตั้งในรางเคเบิลเป็นสายเคเบิลแกนเดียวมีเปลือกนอกชนิด IEC 60502-1 ในเงื่อนไขการติดตั้งที่เหมือนกัน สายไฟฟ้าชนิด CV ขนาด 240 ตร.มม.จะให้ค่าขนาดกระแสที่ 577 A (ตารางที่ 5-32) 

 

หรือกล่าวได้ว่าการออกแบบสายไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้กับแผงสวิตช์ที่มีขนาดพิกัดกระแสของเซอร์กิตเบรกเกอร์หลัก (In) ที่ 400 AT ในเงื่อนไขการติดตั้งดังกล่าวข้างต้น ถ้าออกแบบและติดตั้งโดยใช้รหัสเคเบิลใช้งานที่ NYY จะต้องใช้สายเคเบิลขนาด 240 ตร.มม. แต่ถ้าออกแบบและติดตั้งเป็นรหัสเคเบิลใช้งานที่ IEC 60502-1 จะสามารถใช้ขนาดของสายไฟได้ที่ 150 ตร.มม. (ขนาดกระแสที่ 422 A, ตารางที่ 5-32) โดยแรงดันตกคร่อมสายจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานแรงดันตกสำหรับระบบแรงต่ำตามที่กำหนดไว้ เช่นกรณีรับไฟแรงกลางจากการไฟฟ้า แรงดันตกคิดจากบริภัณฑ์ประธานแรงต่ำหรือแผงสวิตช์ไฟฟ้าหลัก (MDB) จนถึงจุดใช้ไฟจุดสุดท้ายรวมกันต้องไม่เกิน 5% จากระบบแรงดันที่ระบุ (ข้อ 3.6.2, มาตรฐาน วสท. 022001-22)

 

หากวิศวกรไฟฟ้า หรือช่างไฟท่านใด ต้องการตู้ไฟ รางสายไฟฟ้าคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐาน สามารถดูรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่
KJL LINE Official Account: @KJL.connect