ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ
ปัจจุบันการออกแบบและติดตั้งระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงต่ำ อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินและกระแสลัดวงจรที่เรียกโดยทั่วไปว่า เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit breaker, CB.) จะเป็นอุปกรณ์หลักที่ต้องถูกนำมาออกแบบและติดตั้งภายในแผงสวิตช์ (Switchboard), แผงย่อย (Panelboard) หรือที่ช่างไฟเรียกชื่อโดยทั่วไปว่า “ตู้จ่ายไฟฟ้า” เพื่อป้องกันความเสียหายของวงจรไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นจากกระแสเกินและกระแสลัดวงจร ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากการสภาวะผิดปกติในการใช้งานในระบบไฟฟ้า
ข้อดีของการติดตั้งเซอร์กิตเบรกเกอร์เป็นอุปกรณ์ป้องกันในระบบไฟฟ้ากล่าวคือ เมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวเกิดการทำงานหรือตัดวงจรเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติขึ้นในวงจรไฟฟ้าได้แก่กระแสเกินหรือเกิดการลัดวงจรขึ้น อุปกรณ์ป้องกันชนิดเซอร์กิตเบรกเกอร์นั้นจะสามารถรีเซ็ต (Reset) หรือตั้งค่าอุปกรณ์ให้กลับมาทำงานได้ตามเดิม โดยไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ ซึ่งจะแตกต่างกับฟิวส์ (Fuse) ที่เมื่อทำงานแล้วจำเป็นต้องเปลี่ยนที่ค่าพิกัดแอมแปร์เดิมทุกครั้ง
ประเภทของเซอร์กิตเบรกเกอร์มีให้เลือกใช้งานหลากหลาย ตามขนาดพิกัดกระแสและแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับการออกแบบงานไฟฟ้าตั้งแต่วงจรย่อย (Branch circuits) และสายป้อน (Feeders) ทั้งนี้โดยพื้นฐานทั่วไปเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ติดตั้งในระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงต่ำ (230/400 V) จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักได้แก่
Miniature Circuit Breaker (MCB) หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ลูกย่อย ส่วนใหญ่จะติดตั้งภายในตู้จ่ายไฟฟ้าขนาดเล็กหรือแผงย่อย ที่ช่างไฟฟ้าเรียกชื่อว่าตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต (Consumer unit) สำหรับระบบไฟฟ้า 1 เฟส หรือตู้โหลดเซ็นเตอร์ (Load center) สำหรับระบบไฟฟ้า 3 เฟส ทั้งนี้เซอร์กิตเบรกเกอร์ลูกย่อย, MCB มีให้เลือกใช้และติดตั้งทั้งชนิด 1 ขั้ว (1P MCB), 2 ขั้ว (2P MCB) และ 3 ขั้ว (3P MCB) มีพิกัดทนกระแสลัดวงจร (IC) ที่ 6 kA, 10 kA และเป็นไปตามมาตรฐาน IEC 60898, IEC 60497 โดยมีพิกัดกระแสให้เลือกใช้งานตั้งแต่ 10, 16, 20, 25, 32, 40, 50 จนถึง 63 แอมแปร์ และกรณี 3P MCB มีพิกัดให้เลือกใช้งานถึงค่า 70, 80 และ 100 แอมแปร์
Molded Case Circuit Breaker (MCCB) หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์เคสแม่พิมพ์ ทั่วไปช่างไฟมักเรียกชื่อว่าโมลดเคสเซอร์กิตเบรกเกอร์ มักติดตั้งเป็นอุปกรณ์ป้องกันหลักสำหรับตู้โหลดเซ็นเตอร์ รวมทั้งติดตั้งภายในแผงสวิตช์ มีทั้งชนิด 1 ขั้ว, 2 ขั้ว, 3 ขั้ว และ 4 ขั้ว โดยทั่วไปจะมีพิกัดกระแสให้เลือกใช้งานตั้งแต่ย่าน MCB จนไปถึง 3200 แอมแปร์ และมีพิกัดทนกระแสลัดวงจร (IC) ที่ไม่สูงมากตั้งแต่ 7.5 kA, 10 kA, 15 kA, 18 kA, 30 kA ไปจนถึงพิกัดทนกระแสลัดวงจร (IC) ที่สูงมากๆ โดยเป็นไปตามมาตรฐาน IEC 60497 ปัจจุบันผู้ผลิตออกแบบ MCCB ให้สามารถติดตั้งได้แบบดึงออกได้เช่นเดียวกับ ACB เพื่อเพิ่มประโยชน์ในการใช้งาน และสะดวกในการดูแลรักษา
Air Circuit Breaker (ACB) หรือแอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์ ปกติ ACB จะเป็นอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินที่มีค่าความสามารถพิกัดกระแสต่อเนื่องที่สูงมาก ส่วนมากจะต้องติดตั้งภายในแผงสวิตช์หรือตู้จ่ายไฟฟ้าหลักเนื่องจากมีค่าพิกัดกระแสที่สูงมาก (In) โดยทั่วไปอาจมีค่าพิกัดกระแสได้ตั้งแต่ 800 จนถึง 6300 แอมแปร์ รวมถึงมีค่าพิกัดทนกระแสลัดวงจรที่สูงมาก (IC) ตั้งแต่ 40 kA, 50 kA ไปจนถึงพิกัดมากกว่า 100 kA มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐาน IEC 60497 สามารถแบ่งชนิดการติดตั้ง ACB ได้เป็น 2 ชนิดได้แก่ แบบติดตั้งอยู่กับที่ (Fixed type) และ
แบบดึงออกได้ (Draw-out type)
ตารางที่ 1 ลักษณะของเซอร์กิตเบรกเกอร์ในแต่ละประเภทหลักที่ช่างไฟฟ้าควรรู้
|
|
|
|
|
ที่มา: Schneider_Low Voltage and Industrial Products 2023
หากวิศวกรไฟฟ้า หรือช่างไฟท่านใดต้องการตู้ไฟ หรือรางเก็บสายไฟคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐาน สามารถดูรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ KJL LINE Official Account: @KJL.connect