อุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงค่าเพาเวอร์แฟกเตอร์ ที่ติดตั้งร่วมกับแผงสวิตช์หลักในระบบแรงต่ำ

2023 - 03 - 30

เพาเวอร์แฟกเตอร์

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ

ทำไมต้องปรับปรุงค่าเพาเวอร์แฟกเตอร์?

การปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า หรือ ค่าเพาเวอร์แฟกเตอร์ ในระบบไฟฟ้าแรงต่ำมีความสำคัญอย่างมาก นอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมในอัตรา 56.07 บาทต่อกิโลวาร์ เมื่อค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าของระบบต่ำกว่า 0.85 แล้วนั้น ยังส่งผลให้ภาพรวมของคุณภาพกำลังไฟฟ้า (Power Quality) ของประเทศให้ดีขึ้นอีกด้วย เพราะถือได้ว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ระบบสายส่งจนถึงระบบจำหน่ายไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อันเป็นการประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งหมดของประเทศได้

 

อุปกรณ์สำหรับปรับปรุงค่าเพาเวอร์แฟกเตอร์

การติดตั้งอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (Power Factor Correction) ร่วมกับแผงสวิตช์ระบบจำหน่ายแรงต่ำหลัก (Main Low Voltage Switchboard, MLVS) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าและควบคุมให้ค่าเพาเวอร์แฟกเตอร์ของระบบมีค่าสูงกว่า 0.85 ตลอดเวลา โดยทั่วไปอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า มีดังนี้ 

  • อุปกรณ์ป้องกัน

    ได้แก่ เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breakers), ฟิวส์ใบมีด (HRC Fuses)

  • อุปกรณ์เชื่อมต่อ

    ได้แก่ สายไฟฟ้า (Cables), บัสบาร์ (Busbar)

  • อุปกรณ์ควบคุมและแสดงผล

    ได้แก่ คอนแทคเตอร์ (Contactors), เครื่องตรวจวัดและควบคุมค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าของระบบ (Power Factor Controller), หลอดไฟ (Pilot Lamps), ปุ่มกด (Push Buttons), สวิตช์เลือกระบบ (Selector Switches)
  • อุปกรณ์ต่อเพิ่มเพื่อปรับปรุงค่าเพาเวอร์แฟกเตอร์

    ได้แก่ คาปาซิเตอร์ (Capacitors), ดีจูนรีแอคเตอร์ (Detuned Reactors)

 

 

เงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการใช้คาปาซิเตอร์

คาปาซิเตอร์หรือตัวเก็บประจุ ที่เลือกใช้และติดตั้งร่วมกับแผงสวิตช์หลักเพื่อปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า ควรมีคุณสมบัติดังนี้

  • ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้ตามมาตรฐาน IEC6 60831-1&2 
  • เป็นคาปาซิเตอร์ระดับคลาส D (-25/D, อุณหภูมิสูงสุดใช้งานที่ 55 °C)
  • มีพิกัดแรงดันใช้งานของคาปาซิเตอร์ที่เหมาะสม 
  • ต้องมีส่วนกั้น แยกคาปาซิเตอร์ออกจากส่วนอื่น ๆ ของแผงสวิตช์หลัก เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการระเบิดของคาปาซิเตอร์ และจำกัดความเสียหายกับอุปกรณ์ส่วนอื่นที่ติดตั้งอยู่ภายในแผงสวิตช์หลัก 

โดยสรุปแล้ว อุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าควรออกแบบโดยวิศวกรไฟฟ้าที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งต้องมีช่างไฟฟ้าผู้ชำนาญการเป็นผู้ติดตั้งเท่านั้น เพื่อให้การติดตั้งถูกต้องปลอดภัย และเป็นไปตามหลักวิศวกรรม

 

หากวิศวกรไฟฟ้า หรือช่างไฟท่านใดต้องการตู้ควบคุมไฟฟ้า หรือรางไฟคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐาน สามารถดูรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 
KJL LINE Official Account: @KJL.connect