วิธีต่อสายไฟที่ถูกต้อง ตามมาตรฐานทางไฟฟ้า

2024 - 05 - 02

ภาพเปิดบทความเรื่องวิธีต่อสายไฟ
การต่อสายไฟเป็นกระบวนการที่สำคัญในการติดตั้งหรือซ่อมแซมระบบไฟฟ้า เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง และสร้างความสะดวกในการใช้งาน เช่น การเพิ่มความยาวสายไฟให้รองรับกับพื้นที่ใช้งาน หรือการติดตั้งสายดินเพิ่มสำหรับที่อยู่อาศัยแบบเก่า ในบทความนี้เราจะพูดถึงวิธีต่อสายไฟตามมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้มั่นใจว่าการติดตั้งไฟฟ้าเป็นไปตามความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อสายไฟ

อุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการต่อสายไฟและเราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป มีดังนี้

อุปกรณ์ต่อสายไฟ

1. เต๋าต่อสายไฟ

เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการต่อสายไฟ โดยทำหน้าที่บีบอัดสายไฟทั้งสองเส้นเข้าหากัน มีทั้งแบบขันนอตยึด แบบขาหนีบสปริง และแบบคลิปล็อก เป็นต้น

2. Terminal ต่อสายไฟ

เป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อสายไฟ จากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง มีจุดเด่นคือช่วยให้จัดเรียงสายไฟได้เป็นระเบียบ และช่วยให้ตรวจสอบจุดที่ชำรุดเสียหายได้ง่าย นิยมใช้ในระบบตู้คอนโทรล

3. สลิปต่อสายไฟ

มีลักษณะเป็นทรงกระบอก ไว้เชื่อมต่อสายไฟ มีทั้งแบบสลิปเปลือยที่ทำจากอะลูมิเนียม และสลิปแบบหุ้มฉนวน PVC

4. ไวร์นัท

มีลักษณะเป็นทรงกรวย ข้างในมีขดลวดสปริง ไว้เชื่อมต่อสายไฟ ขันเกลียวเข้าด้วยกัน การใช้ไวร์นัท ต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับขนาดสายไฟ จึงจะมีประสิทธิภาพและความทนทาน ในการใช้งาน

5. เทปพันสายไฟ

ใช้ในการพันสายไฟเพื่อเชื่อมสายไฟเข้าด้วยกัน หรือใช้เป็นฉนวนรองสายไฟ เพื่อป้องกันการสัมผัสสายไฟกับภายนอก มีคุณสมบัติทนต่อความร้อนและไฟฟ้าสถิตได้ดี

 

วิธีต่อสายไฟแบบต่าง ๆ

ในกรณีไม่มีอุปกรณ์ช่วยในการเชื่อมต่อสายไฟ เราสามารถเชื่อมต่อสายไฟได้โดยตรง แยกคร่าว ๆ ออกเป็น 3 วิธี ได้แก่

1. วิธีต่อสายไฟแบบหางเปีย หรือหางหมู

วิธีต่อสายไฟแบบหางเปีย หรือหางหมู

การต่อสายไฟแบบหางเปีย (Pigtail) หรือหางหมู เป็นวิธีที่ใช้ในการเชื่อมต่อสายไฟในกรณีที่สายไฟไม่ได้รับแรงดึง โดยปอกฉนวนหุ้มสายไฟออก บิดเป็นเกลียวเข้าด้วยกันให้แน่น ส่วนที่เป็นทองแดงยื่นออก ใช้เทปพันสายไฟ หรือ ไวร์นัทสวมให้เรียบร้อย

 

2. วิธีต่อสายไฟแบบแยก 3 ทาง หรือ แบบตัว  T

วิธีต่อสายไฟแบบแยก 3 ทาง หรือ แบบตัว T

การต่อสายไฟแบบตัวที (T-junction) เป็นวิธีการเชื่อมต่อสายไฟที่มีลักษณะคล้ายกับตัวอักษร T โดยใช้สายไฟเดียวเป็นสายหลัก และสายไฟอีกเส้นเป็นสายรองที่เชื่อมต่อกับสายไฟหลัก โดยการต่อสายไฟแบบตัวที จะช่วยสร้างการแบ่งสายไฟเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์หรือสายไฟเพิ่มเติมได้ในจุดต่าง ๆ ของระบบไฟฟ้า

โดยมาตรฐานแล้ว สายไฟจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพต้องไม่มีการเชื่อมต่อระหว่างสาย เพราะการเชื่อมต่อระหว่างสายนั้น อาจทำให้เกิดการสูญเสียทางไฟฟ้าได้ จึงกำหนดมาตรฐานในการเชื่อมต่อสายไฟระหว่างสายกับสาย เพื่อให้เกิดการสูญเสียทางไฟฟ้าน้อยที่สุด แต่เพราะหน้างานแต่ละที่มีความแตกต่าง การต่อสายไฟที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐาน เกิดจากการประยุกต์ใช้กับหน้างานที่ไม่เหมือนกัน จึงนำมาแสดงให้ดูเป็นแนวทาง ซึ่งเราอาจจำเป็นได้ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น

 

3. วิธีต่อสายไฟแบบถักขด

เป็นการประยุกต์การต่อสายไฟ ที่ใช้สำหรับแกนเดี่ยว หรือหลายแกนที่มีขนาดเท่ากันหรือต่างกัน วิธีการนี้จะช่วยให้จุดเชื่อมต่อมีความทนทานต่อการรับแรงดึง แรงกระชากทางกายภาพ และลดการสูญเสียทางไฟฟ้า แบ่งเป็น 3 แบบดังนี้

  • วิธีต่อสายไฟแบบถักขด แกนเดี่ยว

วิธีต่อสายไฟแบบถักขด แกนเดี่ยว

ใช้สำหรับเชื่อมต่อสายไฟแกนเดี่ยว เช่น สายไฟ THW, VAF เป็นต้น เริ่มจากการปอกสายไฟให้แกนทองแดงมีระยะในการเชื่อมต่อตามความเหมาะสม จากนั้นนำแกนทั้งสองไขว้กันเป็นกากบาท ให้เส้นที่ 1 เป็นแกน ขดเกลียวเส้นที่ 2 พันรอบแกนเส้นที่ 1 จากนั้น ให้เส้นที่ 2 เป็นแกน ขดเกลียวเส้นที่ 1 พันรอบแกนเส้นที่ 2 และตรวจสอบความสมบูรณ์

  • วิธีต่อสายไฟแบบถักขดแบบ หลายแกน

วิธีต่อสายไฟแบบถักขด หลายแกน

ใช้สำหรับเชื่อมต่อสายไฟที่เป็นเส้นฝอย เช่น สายไฟ VCT, VKF, THW-F เป็นต้น เริ่มจากการปอกสายไฟให้เห็นเส้นทองแดงให้เหมาะสม (แนะนำประมาณ 1.5 นิ้ว) คลี่เส้นฝอยทองแดงกระจายออก จากนั้น นำเส้นฝอยมาสวมเข้าด้วยกัน โดยบิดเกลียวเส้นฝอยทั้ง 2 ด้านให้เป็นแท่ง และนำเส้นฝอยที่บิดเกลียวแต่ละด้านพันรอบแกนและตรวจสอบความสมบูรณ์อีกครั้ง

  • วิธีต่อสายไฟแบบถักขด แบบผสม

วิธีต่อสายไฟถักขดแบบผสม

ใช้สำหรับเชื่อมต่อสายไฟแกนเดี่ยวกับสายไฟแบบเส้นฝอยเข้าด้วยกัน เริ่มจากการปอกเปลือกสายไฟ ให้มีระยะแกนทองแดงประมาณ 1.5 นิ้วไว้เชื่อมต่อ บิดเกลียวสายไฟทองแดงฝอยให้เป็นแท่ง และนำสายไฟทั้งสองมาไขว้กันเป็นกากบาท จากนั้น พันสายไฟฝอยที่บิดเกลียวรอบแกนสายเดี่ยว นำสายไฟแกนเดี่ยวขดเกลียวรอบแกนสายไฟฝอย และตรวจสอบความสมบูรณ์ก่อนใช้งาน

 

วิธีต่อสายไฟตามที่กล่าวไปข้างต้น จะเป็นการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการสูญเสียทางไฟฟ้าน้อยที่สุด ควรจำไว้ว่าการต่อสายไฟเป็นงานที่ต้องมีความระมัดระวัง ควรมีความรู้และความชำนาญในการทำงานด้านไฟฟ้า หรือปรึกษาช่างไฟฟ้ามืออาชีพ เพื่อให้มั่นใจว่าการเชื่อมต่อไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

นอกจากเรื่องของมาตรฐานการต่อสายไฟและการเดินสายไฟที่ถูกต้องแล้ว การเลือกใช้รางไฟที่มีคุณภาพ ผลิตจากวัสดุคุณภาพและผ่านการรับรองมาตรฐานสากล จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบไฟฟ้า และยืดอายุการใช้งานไฟฟ้าภายในอาคาร บ้านเรือน หรือสถานที่ต่าง ๆ ให้ยาวนานขึ้นอีกด้วย

 

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 
LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo
Facebook: facebook.com/KJLElectric