สายไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สำคัญในงานระบบไฟฟ้าที่ที่วิศวกรต้องให้ความสำคัญในขั้นตอนการออกแบบและคำนวณเพื่อให้ขนาดกระแสของสายไฟฟ้า หรือค่าความสามารถในการนำกระแสสูงสุดของสายไฟ (Iz) สัมพันธ์และสอดคล้องกับขนาดของพิกัดอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน (In) รวมทั้งช่างไฟฟ้าที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดในทุกขั้นตอนของการติดตั้ง เพื่อให้การเดินสายและติดตั้งสายไฟเป็นไปตามมาตรฐาน ฉนวนสายไฟฟ้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ได้รับความเสียหายระหว่างการติดตั้ง รวมทั้งการมีการต่อสายไฟและการเข้าสายที่ขั้วต่อ (Terminals) ที่แน่น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อมีการใช้งานทางไฟฟ้า
โดยทั่วไปสายไฟที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดของตัวนำ (ตร.มม.) หรือเบอร์ใหญ่ก็จะสามารถนำกระแส หรือมีขนาดกระแสของสายไฟที่มากกว่าสายไฟที่เบอร์เล็กกว่า อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่มีผลต่อขนาดกระแสของสายไฟ ผู้เขียนขอสรุปเพื่อให้เข้าใจโดยง่าย โดยอ้างอิงจากสายไฟฟ้าที่กำหนดตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ และที่ถูกใช้งานโดยทั่วไปในการติดตั้งทางไฟฟ้า ได้แก่
สายไฟฟ้าโดยทั่วไปจะใช้ตัวนำทองแดงหรืออลูมิเนียม ซึ่งสายไฟฟ้าทองแดงจะมีค่าพิกัดกระแสไฟฟ้าสูงกว่าสายไฟฟ้าอลูมิเนียมที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดเท่ากัน
สายไฟฟ้าหุ้มฉนวนชนิดเดียวกัน แต่วัสดุของฉนวนแตกต่างกัน จะมีค่าพิกัดกระแสไฟฟ้าแตกต่างกัน เช่น สายไฟฟ้าหุ้มฉนวนครอสลิงก์พอลิเอทิลีน (XLPE) จะมีค่าพิกัดกระแสสูงกว่าสายไฟฟ้าหุ้มฉนวน PVC ที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดเท่ากัน
รูปแบบการติดตั้ง หรือวิธีการเดินสายไฟ โดยมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯกำหนดไว้เป็น 7 กลุ่ม โดยทั่วไปที่สายไฟจะถูกออกแบบและติดตั้งได้แก่ กลุ่มที่ 2 เดินในช่องรางเดินสายโลหะหรืออโลหะเกาะผนังหรือเพดาน หรือฝังในผนังคอนกรีต, กลุ่มที่ 4 วางเรียงกันแบบมีระยะห่าง เดินบนฉนวนลูกถ้วยในอากาศ และกลุ่มที่ 7 วางบนรางเคเบิลมีฝาปิดและไม่มีฝาปิด รางเคเบิลแบบระบายอากาศ หรือรางเคเบิงแบบบันได เป็นต้น
จำนวนตัวนำกระแส 2 เส้น (1 เฟส) หรือ 3 เส้น (3 เฟส) รวมทั้งสายไฟที่ถูกออกแบบและใช้งานเป็นชนิดแกนเดียว หรือหลายแกน
จำนวนสายที่นำกระแสในช่องเดินสายไฟฟ้าเดียวกันหรือเดินสายบนผิวมากกว่า 1 กลุ่มวงจร โดยจะมีการกำหนดตัวคูณปรับค่าทำให้ขนาดกระแสของสายไฟมีค่าลดลง
อุณหภูมิโดยรอบหรืออุณหภูมิแวดล้อมในการติดตั้ง โดยจะมีตัวคูณปรับค่าขนาดกระแสตามที่กำหนดในตาราง หากอุณหภูมิโดยรอบแตกต่างจาก 40˚C สำหรับเดินในอากาศ และ 30˚C สำหรับฝังดิน
ดังนั้นการพิจารณาวิธีการติดตั้งและการเลือกใช้ชนิดของสายไฟฟ้าที่เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการออกแบบและคำนวณเพื่อหาขนาดสายไฟที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการกำหนดวิธีการเดินสายที่ต้องเหมาะสมกับสภาพหน้างาน เพื่อให้ช่างไฟสามารถติดตั้งได้สะดวก ถูกต้อง และไม่เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการติดตั้งงานไฟฟ้า
อ่านมาถึงตรงนี้ทุกท่านก็คงจะทราบแล้วนะครับ ว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการนำกระแสไฟฟ้ามีอะไรบ้าง และหากวิศวกรไฟฟ้าหรือช่างไฟท่านใด ต้องการตู้ไฟ รางไฟคุณภาพดี ทนทุกสภาพการใช้งาน และตรงตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่
LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo
Facebook: facebook.com/KJLElectric