มาตรฐานการเดินสายไฟใต้ดิน ลึกกี่เมตร และข้อกำหนดอื่น ๆ

2024 - 10 - 02

มาตรฐานการเดินสายไฟใต้ดิน ลึกกี่เมตร และข้อกำหนดอื่น ๆ

การเดินสายไฟใต้ดิน เป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ในการติดตั้งระบบไฟฟ้า เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุจากสายไฟขาด หรือถูกทำลายจากสภาพอากาศ แต่การจะดำเนินการได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานการเดินสายไฟใต้ดิน โดยเฉพาะความลึกในการติดตั้ง และข้อกำหนดต่าง ๆ ตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย

 

ข้อกำหนดระดับความลึกในการติดตั้งสายไฟใต้ดิน

การติดตั้งสายไฟใต้ดิน มีหลักการอยู่ว่า “ระดับความลึกในการติดตั้ง ขึ้นอยู่กับวิธีการติดตั้งและชนิดของสายไฟ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ไฟฟ้า” โดยความลึกในการติดตั้งสายไฟใต้ดิน ต้องเป็นไปตามตารางดังนี้ (อ้างอิงจากมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2564, ตารางที่ 5-1 ความลึกในการติดตั้งใต้ดิน สำหรับระบบแรงต่ำ)

 

วิธีที่

วิธีการเดินสาย

ความลึก

น้อยสุด (m)

ความลึก2

น้อยสุด (m)

ความลึก3

น้อยสุด (m)

1

สายเคเบิลฝังดินโดยตรง

0.60

0.45

0.45

2

ท่อโลหะหนาและหนาปานกลาง

0.15

0.15

0.10

3

ท่ออโลหะซึ่งได้รับการรับรองให้ฝังดินโดยตรงได้ โดยไม่ต้องมีคอนกรีตหุ้ม (เช่น ท่อ HDPE ท่อ RTRC และ ท่อ PVC)

0.45

0.30

0.10

4

ท่อร้อยสายอื่น ๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากการไฟฟ้าฯ

0.45

0.30

0.10

 

หมายเหตุ 

  1. ท่อร้อยสายที่ได้รับการรับรองให้ฝังดินได้โดยมีคอนกรีตหุ้มในวิธีที่ 2, 3 และ 4 ต้องหุ้มด้วยคอนกรีตหนาไม่น้อยกว่า 50 มม.

  2. ใต้แผ่นคอนกรีตหนาไม่น้อยกว่า 50 มม.

  3. ใต้พื้นคอนกรีตซึ่งหนาไม่น้อยกว่า 100 มม. และยื่นเลยออกไปจากแนวติดตั้งไม่น้อยกว่า 150 มม.

  4. สำหรับทุกวิธี หากอยู่ในบริเวณที่มีรถยนต์วิ่งผ่าน ความลึกต้องไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร

  5. การติดตั้งใต้อาคารไม่บังคับเรื่องความลึก

  6. ความลึกหมายถึงระยะต่ำสุดวัดจากส่วนบนของสายหรือท่อถึงผิวบนสุดของส่วนปกคลุม

 

ท่อ HDPE ซึ่งได้รับการรับรองให้ฝังดินโดยตรงได้ โดยไม่ต้องมีคอนกรีตหุ้ม

ข้อกำหนดการติดตั้งสายไฟใต้ดินอื่น ๆ ที่ควรรู้

จากข้อกำหนดระดับความลึกในการติดสายไฟใต้ดิน จะพบว่าระดับความลึกน้อยสุดที่แตกต่างกันตามที่กำหนดไว้ในตารางจะขึ้นอยู่กับวิธีการเดินสาย ทั้งนี้วิธีการเดินสายใต้ดินตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า จะกำหนดไว้เป็น 2 ลักษณะการติดตั้ง ได้แก่ การติดตั้งแบบร้อยท่อฝังดิน (กลุ่มที่ 5) และการติดตั้งแบบฝังดินโดยตรง (กลุ่มที่ 6) ซึ่งมีข้อกำหนดอื่น ๆ ที่สำคัญดังนี้

 

  • รหัสชนิดเคเบิลที่สามารถใช้สำหรับการติดตั้งใต้ดิน

รหัสชนิดเคเบิลที่อนุญาตให้ใช้เดินสายใต้ดินสำหรับระบบแรงต่ำได้แก่ NYY, VCT, IEC 60502-1 โดยติดตั้งได้ทั้งแบบร้อยท่อฝังดิน (กลุ่มที่ 5) และฝังดินโดยตรง (กลุ่มที่ 6) ทั้งนี้ค่าความสามารถในการนำกระแสของสายไฟให้อ้างอิงจาก ตารางที่ 5-23 และ 5-29 ในมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2564 ทั้งนี้สายเคเบิลที่ฝังดินโดยตรง ส่วนที่โผล่ขึ้นจากดินต้องมีการป้องกันสายเคเบิลนั้น อาจเป็นเครื่องห่อหุ้มหรือท่อร้อยสายก็ได้ โดยส่วนที่เป็นการป้องกันสายเคเบิลนั้นต้องฝังจมลงในดินต้องมีความลึกในการติดตั้งตามตารางที่กำหนดข้างต้น และเครื่องห่อหุ้มหรือท่อร้อยสายนั้นต้องมีความสูงจากระดับพื้นดินไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร ด้วยเช่นกัน

  • ปลายท่อซึ่งฝังอยู่ในดิน 

การติดตั้งแบบร้อยท่อฝังดิน ปลายท่อซึ่งฝังอยู่ในดิน ต้องมีบุชชิงชนิดอุด (Conduit sealing bushing) ณ จุดที่สายไฟฟ้าออกจากท่อ ทั้งนี้อนุญาตให้ใช้วัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติการป้องกันเทียบเท่ากับบุชชิงชนิดอุดทดแทนได้

  • การกลบสายหรือท่อร้อยสาย

วัสดุที่ใช้สำหรับกลบสายหรือท่อร้อยสายเพื่อการติดตั้งใต้ดิน ห้ามใช้วัสดุที่มีคม หรือทำให้เกิดการผุกร่อนกับสายเคเบิลหรือท่อร้อยสาย รวมทั้งห้ามใช้วัสดุกลบที่มีขนาดใหญ่ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสายเคเบิลหรือท่อร้อยสายที่ติดตั้งใต้ดินได้

  • การป้องกันความชื้น 

การติดตั้งแบบร้อยท่อฝังดิน (กลุ่มที่ 5) ท่อร้อยสายซึ่งความชื้นสามารถเข้าไปยังส่วนที่มีไฟฟ้าได้ ต้องอุดที่ปลายใดปลายหนึ่ง หรือทั้งสองปลายของท่อร้อยสายตามความเหมาะสม วัสดุที่ใช้สำหรับอุดปลายของท่อร้อยสาย เช่น โฟม Sealing compound หรือเทียบเท่า

  • การป้องกันฉนวนสายชำรุดจากดินทรุด 

ในกรณีที่มีการเดินสายเคเบิลใต้ดินเข้าไปในอาคาร ต้องมีการป้องกันฉนวนสายชำรุดเนื่องจากดินทรุด สายเคเบิลใต้ดินติดตั้งใต้อาคารต้องติดตั้งแบบร้อยท่อฝังดิน และท่อร้อยสายนั้นต้องยาวเลยผนังด้านนอกของอาคารออกไป

  • การต่อสายที่ติดตั้งใต้ดิน

สายเคเบิลใต้ดินที่อยู่ในราง (trench) อนุญาตให้มีการต่อสายหรือต่อแยกสายในรางได้ แต่การต่อและต่อแยกต้องทำด้วยวิธีและใช้วัสดุที่ได้รับการรับรองแล้ว

 

วิธีการเดินสายแบบร้อยท่อฝังดิน หรือฝังดินโดยตรง เป็นวิธีการที่ทำให้เกิดความสวยงามในการติดตั้งงานระบบไฟฟ้า แต่การติดตั้งนั้น ช่างไฟต้องมีความรู้และความเข้าใจในข้อกำหนดการติดตั้งใต้ดินตามที่มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าได้กำหนดไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบไฟฟ้าที่ติดตั้งถูกต้อง ตรงตามข้อกำหนด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ไฟฟ้าและสามารถใช้งานได้ยาวนาน 

 

เพื่อให้การติดตั้งระบบไฟฟ้าเป็นไปอย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น การเลือกใช้ตู้คอนโทรลและรางครอบสายไฟ ที่ผลิตจากเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูง วัสดุคุณภาพดี ผ่านการรับรองมาตรฐาน และงานออกแบบที่ทันสมัย จะช่วยให้การติดตั้งระบบไฟฟ้าเป็นไปอย่างเป็นถูกต้องตามข้อกำนดในมาตรฐานการติดตั้ง เป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร และเพิ่มความสวยงามให้กับพื้นที่ติดตั้ง

 

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น

สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 

LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo

Facebook: facebook.com/KJLElectric