ช่างไฟต้องรู้! มาตรฐานการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้าน

2024 - 06 - 04

ภาพเปิดบทความ มาตรฐานการเดินสายไฟฟ้า ภายในบ้าน

ระบบไฟฟ้าถือเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับบ้านพักอาศัยในปัจจุบัน การเดินสายไฟฟ้าที่ถูกต้องตามมาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เพราะหากเดินสายไฟอย่างไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกเกี่ยวกับมาตรฐานการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านว่ามีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ประเภทของสายไฟฟ้าสำหรับการเดินสายไฟ วิธีการเดินสายไฟ รวมถึงข้อกำหนดอื่น ๆ ที่ช่างไฟควรรู้เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

 

ประเภทสายไฟฟ้า ที่ใช้เดินสายภายในบ้าน

ตามมาตรฐานการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านได้ระบุเอาไว้ว่า สายไฟฟ้าที่ใช้ต้องเป็นประเภทตัวนำทองแดงหุ้มฉนวน PVC และสามารถทนแรงดันไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 300 โวลต์ ในปัจจุบันสายไฟที่นิยมใช้งานภายในบ้านจึงแบ่งออกเป็น 4 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้

  • สายไฟฟ้าชนิด VAF

เป็นสายไฟฟ้าชนิดแบนประเภท 2 แกนหรือ 3 แกน มีตัวนำเป็นทองแดงแบบเส้นเดี่ยวแข็งหรือตีเกลียว หุ้มด้วยฉนวนและเปลือก PVC สีขาว สามารถทนความร้อนที่อุณหภูมิไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส และทนแรงดันไฟฟ้าได้ไม่เกิน 300/500 โวลต์ เป็นประเภทที่พบเห็นได้บ่อยตามบ้านเรือน เหมาะกับการเดินสายไฟแบบเดินลอย หรือผ่านรางไวร์เวย์  และห้ามนำมาใช้กับการเดินสายไฟแบบร้อยท่อฝังดินหรือฝังดินโดยตรง

  • สายไฟฟ้าชนิด 60227 IEC 01 (THW)

เป็นสายไฟฟ้าประเภทแกนเดี่ยว มีตัวนำเป็นทองแดงเส้นเดี่ยว หรือตีเกลียว หุ้มด้วยฉนวน PVC ชั้นเดียว สามารถทนความร้อนที่อุณหภูมิไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส และทนแรงดันไฟฟ้าได้ไม่เกิน 450/750 โวลต์ เหมาะกับการเดินสายไฟแบบท่อร้อยสายเพื่อฝังในผนัง หรือบนฝ้าเพดาน ไม่แนะนำให้ติดตั้งภายนอกอาคารหรือฝังใต้ดินโดยตรง รวมถึงห้ามเดินสายบนรางไฟ ยกเว้นส่วนที่เป็นสายดิน

  • สายไฟฟ้าชนิด VCT หรือ VCT-G

เป็นสายไฟฟ้าประเภท 1 ถึง 4 แกน มีตัวนำเป็นทองแดงลักษณะเส้นฝอย หุ้มด้วยฉนวนและเปลือก PVC สามารถทนความร้อนที่อุณหภูมิไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส และทนแรงดันไฟฟ้าได้ไม่เกิน 450/750 โวลต์ มีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นสูง และทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี จึงเหมาะกับการเดินสายไฟที่การเคลื่อนที่ตลอดเวลา และสามารถติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบทั้งการเดินบนรางเคเบิล เดินแบบร้อยท่อฝังผนัง เดินแบบร้อยท่อฝังดิน ฯลฯ หรือหากต้องใช้สายไฟประเภทนี้กับงานที่ต้องฝังดินโดยตรงก็สามารถเลือกสายไฟชนิด VCT-G ที่มีสายดินในตัวได้

  • สายไฟฟ้าชนิด NYY หรือ NYY-G

เป็นสายไฟฟ้าประเภท 1 ถึง 4 แกน มีตัวนำเป็นทองแดงเส้นเดี่ยวแข็งหรือตีเกลียว หุ้มด้วยฉนวนและเปลือก PVC สามารถทนความร้อนที่อุณหภูมิไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส และทนแรงดันไฟฟ้าได้ไม่เกิน 450/750 โวลต์ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสายไฟชนิด VCT แต่มีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นน้อยกว่า จึงเหมาะกับงานไฟฟ้านอกบ้านที่ต้องนำสายไฟฝังลงดินโดยตรง

นอกจากนี้ช่างไฟจำเป็นต้องเลือกสายไฟ ให้ตรงกับสีมาตรฐานสายไฟซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ของการไฟฟ้าฯ ตามมาตรฐาน มอก. 11-2553 เพื่อติดตั้งให้ถูกต้อง ดังนี้

  • สายไลน์ (L1) = สีน้ำตาล

  • สายไลน์ (L2) = สีดำ*

  • สายไลน์ (L3) = สีเทา*

  • สายนิวทรัล (N) = สีฟ้า

  • สายดิน (G) = สีเขียวแถบเหลือง

*สำหรับระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส

 ช่างไฟฟ้ากำลังเดินสายไฟฟ้าแบบฝังผนัง

วิธีการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้าน

มาตรฐานการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเดินสายไฟแบบฝังผนัง และการเดินสายไฟแบบเดินลอย ซึ่งทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกัน ดังนี้

1. การเดินสายไฟแบบฝังผนัง

เป็นการเดินสายไฟผ่านท่อร้อยสายไฟ ซึ่งตามมาตรฐานแล้วจะใช้เป็นท่อร้อยสายไฟ PVC สีเหลือง หรือท่อโลหะประเภท IMC, RSC เป็นต้น และติดตั้งโดยทำการเจาะร่องเพื่อฝังท่อร้อยสายไฟเข้าไปในผนังหรือเพดานบ้าน และฉาบปูนหรือก่ออิฐทับเพื่อให้ผนังดูเรียบเสมอกัน 

การเดินสายไฟแบบฝังผนังเหมาะกับบ้านแบบไหน

การเดินสายไฟแบบฝังผนังนั้นเหมาะกับบ้านแทบทุกสไตล์ โดยเฉพาะบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ต้องการความเรียบหรู เป็นระเบียบ ดูสบายตา อีกทั้งยังสามารถใช้กับบ้านที่ก่อสร้างด้วยผนังหลากหลายประเภท เช่น ผนังเบา อิฐ และคอนกรีต แต่ไม่นิยมใช้กับบ้านไม้เก่าที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง

ข้อดีการเดินสายไฟแบบฝังผนัง

  • ดูเรียบร้อยสวยงาม และช่วยประหยัดพื้นที่ในการเดินสายไฟ

  • มีความทนทานและความปลอดภัยสูงกว่า เพราะสายไฟจะไม่เสื่อมสภาพจากความร้อน ฝุ่นละออง สัตว์กัดแทะหรือสารเคมีโดยตรง

  • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร

ข้อเสียการเดินสายไฟแบบฝังผนัง

  • มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูงกว่า และต้องเลือกช่างที่มีความชำนาญและความละเอียดสูง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการเดินสายไฟผิดวิธี

  • ซ่อมแซมและบำรุงรักษายากกว่า หากสายไฟเกิดการชำรุด จำเป็นต้องทุบผนังเพื่อหาจุดที่เสียหาย

  • ไม่สามารถลด-เพิ่มสายไฟในภายหลังได้ จึงจำเป็นต้องวางแผนอย่างดีก่อนเดินสายไฟ

 

2. การเดินสายไฟแบบเดินลอย

เป็นการเดินสายไฟภายนอก ให้เลื้อยแนบติดกับผนังหรืออยู่ชิดผนังมากที่สุด และเป็นรูปแบบมาตรฐานการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านที่นิยมใช้กันมานาน โดยหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ การนำสายไฟยึดติดกับผนังบ้านด้วยกิ๊บรัดสายไฟ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ตีกิ๊บ” และการนำสายไฟเดินผ่านท่อร้อยสายไฟเพื่อยึดเข้ากับผนัง

การเดินสายไฟแบบเดินลอยเหมาะกับบ้านแบบไหน

การเดินสายไฟแบบตีกิ๊บนั้นจะเหมาะกับบ้านเกือบทุกประเภท ยกเว้นในบริเวณพื้นที่กลางแจ้ง เพราะการเดินสายไฟแบบตีกิ๊บส่วนใหญ่จะใช้กับสายไฟฟ้าชนิด VAF ที่ไม่สามารถทนความชื้นหรือการกัดกร่อนได้ ส่วนการเดินผ่านท่อร้อยสายไฟจะเหมาะกับบ้านสไตล์ลอฟท์ หรือสไตล์อินดัสเทรียลที่ต้องการเน้นในเรื่องการโชว์โครงสร้างต่าง ๆ ภายในบ้าน โดยอาจจะเลือกใช้เป็นท่อร้อยสายไฟประเภทโลหะเพื่อความสวยงาม หรือใช้การทาสีทับท่อประเภท PVC เพื่อให้กลมกลืนกับสีผนังของบ้าน

ข้อดีการเดินสายไฟแบบเดินลอย

  • ราคาประหยัด ใช้เวลาในการติดตั้งน้อยกว่า

  • เมื่อสายไฟชำรุดเสียหาย สามารถซ่อมแซมได้ง่ายกว่า และสามารถเพิ่ม-ลดจำนวนสายไฟในภายหลังได้

  • การเดินสายไฟผ่านท่อร้อยสายไฟจะช่วยป้องกันความเสียหายจากภายนอก เช่น สัตว์กัดแทะ หรือสารเคมีกัดกร่อนสายไฟได้

ข้อเสียการเดินสายไฟแบบเดินลอย

  • ไม่เหมาะกับบ้านที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก เพราะจะทำให้สายไฟดูรก เกะกะ

  • หากช่างเลือกใช้ท่อร้อยสายไฟกับสายไฟผิดประเภทอาจทำให้เกิดความร้อนที่ทำให้สายไฟชำรุดได้

  • เต้ารับและสวิตช์ไฟจะยื่นออกมาจากผนังเสมอ ทำให้จัดวางเฟอร์นิเจอร์ได้ยากกว่าสำหรับบ้านที่มีพื้นที่แคบ

 

จะเห็นได้ว่ามาตรฐานการเดินสายไฟฟ้าแต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นช่างไฟจึงควรเลือกพิจารณาตามความต้องการของผู้ใช้งานควบคู่ไปกับความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมภายในสถานที่นั้น ๆ

 

มาตรฐานการเดินสายไฟฟ้าอื่น ๆ ที่ช่างไฟควรรู้

นอกจากประเภทของสายไฟและวิธีการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านแล้ว ช่างไฟยังจำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานของส่วนประกอบอื่น ๆ ภายในระบบไฟฟ้า ดังนี้

  • เครื่องใช้ไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า : ต้องสามารถทนแรงดันไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 220 โวลต์ และเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

  • เต้ารับ : เต้ารับที่ติดตั้งต้องมีสายดิน ตามมาตรฐาน. 166-2549 โดยจัดเรียงขั้วของเต้ารับเป็นขั้วเฟส ขั้วนิวทรัล และขั้วสายดิน แบบทวนเข็มนาฬิกา หรือให้ขั้วสายดินอยู่ทางขวามือ และควรติดตั้งให้สูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร

  • ตู้เมนสวิตช์ : ควรติดตั้งอยู่บนชั้นลอยหรือชั้น 2 ของอาคาร หรือในกรณีที่เป็นบ้านชั้นเดียว ควรติดตั้งให้อยู่สูงจากพื้น 1.60 เมตรขึ้นไป

  • เครื่องป้องกันกระแสเกินสำหรับตู้เมนสวิตช์ : ต้องมีพิกัดทนกระแสลัดวงจรได้ไม่น้อยกว่า 10 kA (กิโลแอมแปร์)

  • เครื่องตัดไฟรั่ว : ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วขนาดไม่เกิน 30 มิลลิแอมป์ในวงจรที่มีความเสี่ยงตามที่มาตรฐานกำหนดไว้ เช่น

    • วงจรเต้ารับในห้องน้ำ โรงจอดรถ ห้องครัว

    • วงจรไฟฟ้าภายนอกอาคาร และบริภัณฑ์ไฟฟ้าที่มนุษย์สัมผัสได้

    • วงจรเต้ารับในห้องใต้ดิน พื้นที่ต่ำกว่าระดับผิวดิน พื้นที่น้ำท่วมถึง หรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

    • วงจรย่อยสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน อ่างน้ำวน

 

การติดตั้งระบบไฟฟ้าตามมาตรฐานการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านที่กล่าวไปข้างต้น จะช่วยป้องกันเหตุอันตรายและเพิ่มความปลอดภัยต่อทั้งผู้ใช้งานและตัวช่างไฟเอง ดังนั้น ช่างไฟจึงจำเป็นต้องมีความรู้และความชำนาญในการติดตั้งระบบไฟฟ้าเป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากเรื่องของรูปแบบการเดินสายไฟและประเภทสายไฟต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องรู้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือการใช้ตู้ไฟ และ รางเดินสายไฟที่เหมาะสมกับสายไฟแต่ละประเภท ผลิตด้วยวัสดุที่แข็งแรง และขั้นตอนที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยเพิ่มความทนทานให้ระบบไฟฟ้าภายในบ้านให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

 

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่
LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo
Facebook: facebook.com/KJLElectric