อัคคีภัยหรือเพลิงไหม้ ถือเป็นอุบัติเหตุที่สามารถพบได้บ่อยและมีความรุนแรงสูง เนื่องจากเป็นอันตรายถึงชีวิตและสามารถทำให้ทรัพย์สินเสียหายอย่างรุนแรงได้ การเตรียมพร้อมป้องกันเหตุเพลิงไหม้จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยหนึ่งในอุปกรณ์ควบคุมเพลิงที่มีประสิทธิภาพได้แก่ ถังดับเพลิง ซึ่งทำหน้าที่ในการระงับเพลิงไหม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากให้สงบ เพื่อป้องกันการลุกลามไปยังพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นหรือสารไวไฟที่มีความอันตราย
ซึ่งในปัจจุบันถังดับเพลิงมีให้เลือกหลายหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะของเชื้อเพลิงและสารเคมีที่ใช้งานให้เหมาะสมกับในแต่ละสภาพแวดล้อม ในบทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับถังดับเพลิงแต่ละประเภทว่ามีส่วนประกอบและลักษณะการใช้งานอย่างไร รวมถึงข้อดี-ข้อเสียเพื่อการเลือกใช้ประเภทถังดับเพลิงให้ถูกต้องและปลอดภัย
รู้จักประเภทของเพลิงไหม้
เพลิงไหม้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยสามารถจำแนกตามลักษณะของแหล่งเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 5 แบบ ดังนี้
เพลิงประเภท A (Ordinary Combustibles)
เพลิงไหม้ประเภท A เกิดจากการเผาไหม้วัสดุที่เป็นของแข็ง เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า หรือพลาสติก เป็นชนิดของเพลิงไหม้ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยสามารถดับได้ด้วยการใช้น้ำ ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดความร้อนจากไฟ หรือใช้โฟมเพื่อลดปริมาณออกซิเจนที่ทำให้ไฟลุกไหม้ได้
เพลิงประเภท B (Flammable Liquids)
เพลิงไหม้ประเภท B เกิดจากการติดไฟโดยของเหลวที่เป็นวัตถุไวไฟ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง จาระบี ทินเนอร์ แอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถดับไฟด้วยน้ำได้เพราะจะทำให้ของเหลวกระจายตัวและทำให้เชื้อเพลิงลุกลามมากกว่าเดิม นิยมดับเพลิงด้วยโฟมหรือผงเคมีที่ช่วยลดปริมาณออกซิเจนและขัดขวางปฏิกิริยาเผาไหม้
เพลิงประเภท C (Electrical Equipment)
เพลิงไหม้ประเภท C เกิดจากอุปกรณ์หรือระบบไฟฟ้าที่ชำรุด เสียหาย จนทำให้เกิดความร้อนและประกายไฟ โดยทั่วไปจะมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ ดังนั้นจึงห้ามใช้ของเหลว เช่น น้ำหรือโฟม ในการดับเพลิง เนื่องจากของเหลวเหล่านี้เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาจทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมหรือเป็นอันตรายต่อผู้ดับเพลิงได้
เพลิงประเภท D (Combustible Metals)
เพลิงไหม้ประเภท D เกิดจากการลุกติดไฟของโลหะที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ เช่น แมกนีเซียม ไททาเนียม และยูเรเนียม ซึ่งพบได้ยากกว่าเพลิงไหม้ประเภทอื่น เนื่องจากโลหะเหล่านี้ต้องการอุณหภูมิสูงมาก (1,000 องศาเซลเซียสขึ้นไป) เพื่อให้ติดไฟ โดยไม่ควรใช้น้ำในการดับเพลิงประเภทนี้ เพราะน้ำจะยิ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่รุนแรงขึ้น
เพลิงประเภท K (Combustible Cooking)
เพลิงไหม้ประเภท K เกิดจากน้ำมันและไขมันที่ใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งได้รับความร้อนสูงเป็นเวลานานหรือเกิดประกายไฟในจุดใกล้เคียงจนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ เพลิงประเภทนี้จะลุกลามได้เร็วและไม่สามารถดับด้วยน้ำได้ จำเป็นต้องดับด้วย Wet Chemical ซึ่งเป็นสารเคมีเหลวที่ออกแบบมาเฉพาะเท่านั้น
ประเภทถังดับเพลิงแต่ละชนิด
ถังดับเพลิงชนิดต่าง ๆ มีสารที่บรรจุอยู่ภายในแตกต่างกันไป เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงแต่ละแบบ โดยประเภทของถังดับเพลิงที่นิยมใช้ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็นประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1. ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water Extinguishers)

เหมาะสำหรับดับเพลิงประเภท A
สีถังดับเพลิง: คาดแดง
ถังดับเพลิงชนิดน้ำเป็นประเภทของถังดับเพลิงที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีราคาถูก สามารถซื้อเพื่อติดตั้งหรือพกพาได้ง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ใช้งาน ภายในบรรจุด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำผสมสารลดแรงตึงผิว เมื่อฉีดออกมาอาจเป็นลักษณะฝอยน้ำ หรือลำตรง ขึ้นอยู่กับการออกแบบของหัวฉีด น้ำจะทำหน้าที่ลดอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจากไฟ ช่วยลดการเกิดไฟลุกไหม้ซ้ำ
อย่างไรก็ดี ถังดับเพลิงประเภทนี้มีข้อจำกัดคือสามารถดับเพลิงประเภท A ที่ลุกไหม้ของแข็งได้เท่านั้น เพราะน้ำมีคุณสมบัตินำไฟฟ้า และอาจทำให้ไฟประเภทอื่น ๆ เช่น ไฟไหม้น้ำมัน หรือไฟไหม้โลหะรุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับการดับเพลิงในประเภทอื่น ๆ
2. ถังดับเพลิงชนิดโฟม (Foam Extinguishers)

เหมาะสำหรับดับเพลิงประเภท A, B
สีถังดับเพลิง: คาดครีม
ถังดับเพลิงชนิดโฟมเป็นอีกหนึ่งประเภทถังดับเพลิงที่มีความปลอดภัยสูงและใช้งานได้ง่าย ภายในบรรจุน้ำยาผสมโฟมเข้มข้น เมื่อสัมผัสกับอากาศจะเกิดเป็นฟองโฟมที่ช่วยปกคลุมพื้นผิวของเชื้อเพลิง เพื่อลดปริมาณออกซิเจน ลดอุณหภูมิ และป้องกันการระเหยของไอเชื้อเพลิง จึงช่วยหยุดการลุกลามของไฟได้ดี มีราคาที่ไม่แพงมาก เหมาะสำหรับติดตั้งภายในบ้านหรืออาคารสำนักงาน
ถังดับเพลิงชนิดนี้สามารถดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงของแข็ง เช่น ไม้ กระดาษ และเชื้อเพลิงเหลว เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง หรือแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโฟมจะช่วยป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม แต่ไม่ควรใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าเนื่องจากส่วนผสมของน้ำในโฟมเป็นตัวนำไฟฟ้าซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจากไฟฟ้าดูดได้
3. ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Powder Extinguishers)

เหมาะสำหรับดับเพลิงประเภท A, B, C, D
สีถังดับเพลิง: คาดน้ำเงิน
ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง เป็นถังดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถดับเพลิงได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นเพลิงประเภท K โดยตัวผงเคมีจะทำหน้าที่ขัดขวางปฏิกิริยาการเผาไหม้ โดยการดูดซับความร้อน และลดออกซิเจนที่จำเป็นต่อการเผาไหม้ เนื่องจากไม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบทำให้สามารถดับไฟที่เกิดจากของเหลวไวไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม การใช้ถังดับเพลิงประเภทนี้จำเป็นต้องใช้งานในพื้นที่โล่ง เพราะผงเคมีแห้งเมื่อฉีดออกมาจะเกิดการฟุ้งกระจาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เมื่อสูดดมเข้าไปได้ และเมื่อใช้งาน แม้ผงเคมีภายในจะยังเหลือ แต่แรงดันภายในจะตกและไม่สามารถใช้งานได้อีก จำเป็นต้องนำไปบรรจุแรงดันในถังใหม่ทุกครั้ง ทำให้สิ้นเปลือง
4. ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide (CO2) Extinguishers)

เหมาะสำหรับดับเพลิงประเภท B, C
สีถังดับเพลิง: คาดดำ
ถังดับเพลิงชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหนึ่งในประเภทของถังดับเพลิงที่เหมาะสำหรับการดับเพลิงที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเข้าไปแทนที่ก๊าซออกซิเจน เพื่อลดการลุกไหม้ของเปลวเพลิง และไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับถังดับเพลิงประเภทผงเคมีแห้ง ซึ่งอาจทิ้งละอองสารเคมีไว้บนอุปกรณ์ อีกทั้งยังสามารถใช้ดับเพลิงขนาดเล็กที่เกิดจากของเหลวไวไฟได้ จึงเหมาะกับการติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียสำคัญของถังดับเพลิงประเภทนี้คือไม่ควรใช้ในพื้นที่แคบหรืออากาศถ่ายเทน้อย เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำให้ปริมาณออกซิเจนในอากาศลดลง และเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ใช้งานได้ นอกจากนี้ หัวฉีดอาจมีความเย็นสูงจากก๊าซที่ออกมา ซึ่งหากสัมผัสอาจทำให้ผิวไหม้จากความเย็นได้
5. ถังดับเพลิงชนิด K (Wet Chemical Extinguishers)

เหมาะสำหรับดับเพลิงประเภท K
สีถังดับเพลิง: คาดเหลือง
ถังดับเพลิงชนิด K หรือถังดับเพลิง Wet Chemical เป็นถังดับเพลิงที่บรรจุด้วยสาร Potassium Acetate ซึ่งมีคุณสมบัติในการดับไฟที่เกิดจากน้ำมันและไขมันในอาหารโดยเฉพาะ โดยจะทำปฏิกิริยากับไขมันจนกลายเป็นฟิล์มเหนียวที่มีลักษณะคล้ายสบู่ ป้องกันไม่ให้ออกซิเจนสัมผัสกับเชื้อเพลิง ทำให้ไฟสงบลง อีกทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิของน้ำมันไม่ให้ถึงจุดวาบไฟได้
ข้อจำกัดของถังดับเพลิงประเภทนี้คือมีราคาที่ค่อนข้างสูง และเหมาะสำหรับไฟประเภท K เป็นหลัก แม้ว่าจะสามารถใช้ดับไฟประเภท A ได้บ้าง แต่ประสิทธิภาพไม่เท่าถังดับเพลิงชนิดอื่น ๆ ดังนั้นจึงนิยมติดตั้งในร้านอาหารและห้องครัวที่มีการใช้ความร้อนสูงเพื่อการดับเพลิงจากอาหารโดยเฉพาะ
ตารางสรุป ถังดับเพลิงแต่ละประเภท
เราสามารถสรุปลักษณะการใช้งาน ข้อดี และข้อเสียของถังดับเพลิงชนิดต่าง ๆ ได้ตามตารางด้านล่างนี้
ประเภทถังดับเพลิง | สีคาดบนถัง | เหมาะสำหรับดับเพลิงประเภท | ข้อดี | ข้อเสีย |
ถังดับเพลิงชนิดน้ำ | คาดแดง | A (วัสดุที่เป็นของแข็ง) | ราคาถูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสำหรับการพกพาและติดตั้งในทุกพื้นที่ | มีส่วนประกอบของน้ำซึ่งนำไฟฟ้าและทำปฏิกิริยาต่อของเหลวไวไฟ สามารถดับเพลิงได้แค่เฉพาะประเภท A เท่านั้น |
ถังดับเพลิงชนิดโฟม | คาดครีม | A (วัสดุที่เป็นของแข็ง)B (ของเหลวไวไฟ) | ราคาไม่แพง ครอบคลุมเหตุเพลิงไหม้ทั่วไป เหมาะกับการติดตั้งในอาคาร | มีส่วนประกอบของน้ำซึ่งนำไฟฟ้า ไม่เหมาะกับการดับเพลิงจากอุปกรณ์ไฟฟ้า |
ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง | คาดน้ำเงิน | A (วัสดุที่เป็นของแข็ง)B (ของเหลวไวไฟ)C (อุปกรณ์ไฟฟ้า)D (โลหะติดไฟ) | ประสิทธิภาพในการดับไฟสูง ดับเพลิงได้เกือบทุกประเภท ราคาไม่แพง | ต้องฉีดในพื้นที่โล่งเพื่อป้องกันการสูดดมผงเคมี เมื่อใช้เสร็จจำเป็นต้องอัดแรงดันใหม่ทุกครั้ง |
ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ | คาดดำ | B (ของเหลวไวไฟ)C (อุปกรณ์ไฟฟ้า) | ดับไฟไหม้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้ดี โดยไม่เกิดการปนเปื้อนต่ออุปกรณ์ | มีราคาสูง ต้องฉีดในพื้นที่โลงเพื่อป้องกันการขาดออกซิเจน และต้องระมัดระวังในการฉีดเพื่อป้องกันผิวไหม้จากความเย็น |
ถังดับเพลิงชนิด Wet Chemical | คาดเหลือง | K (น้ำมันและไขมันจากอาหาร) | สามารถดับไฟจากน้ำมันหรือไขมันอาหารได้โดยเฉพาะ ซึ่งถังดับเพลิงประเภทอื่นไม่สามารถทำได้ | ไม่สามารถใช้ดับเพลิงประเภทอื่นได้ และราคาสูงกว่าถังดับเพลิงทั่วไป |
ถังดับเพลิงแต่ละชนิดจะมีสารบรรจุ ราคา และวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน การเข้าใจลักษณะของการเกิดเพลิงไหม้จะช่วยให้ผู้ใช้งานเลือกประเภทของถังดับเพลิงได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันอัคคีภัย คือการดูแลและบำรุงรักษาเครื่องมือเครื่องใช้อย่างเหมาะสม หากพบจุดชำรุดหรือเสียหาย ควรรีบซ่อมแซมทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม
และหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดอัคคีภัยคือ ไฟฟ้าลัดวงจร จากการดูแลระบบไฟฟ้าที่ไม่ถูกวิธี สำหรับงานไฟฟ้าที่ต้องการความปลอดภัยสูง ควรติดตั้งรางเดินสายไฟ เช่น รางวายเวย์ หรือราง Cable Tray ที่ผลิตด้วยขั้นตอนที่ได้มาตรฐาน ควบคุมด้วยระบบ CNC ทำให้ได้ชิ้นงานที่ถูกต้อง แม่นยำ และแข็งแรง เพื่อจัดเก็บสายไฟให้เป็นระเบียบ ลดโอกาสสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อความชื้น ฝุ่นละออง หรือการกัดแทะของสัตว์เล็ก รวมถึงลดความแออัดของสายไฟที่อาจทำให้เกิดความร้อนสะสม ซึ่งเป็นสาเหตุของสายไฟเปื่อย ฉีกขาด ไฟฟ้าลัดวงจร และอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้