สารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs คืออะไร

2024 - 11 - 18

ภาพปกบทความสาร VOCs หรือ Volatile Organic Compounds คืออะไร?

 

ในชีวิตประจำวันนั้นเรามีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตรายได้ง่ายกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นควันรถ ควันบุหรี่ ควันโรงงาน หรือแม้แต่สารเคมีในผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว เช่น สีทาบ้าน น้ำยาทำความสะอาด หรือผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนประกอบของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าที่คิด

บทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักว่า สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ สาร VOCs คืออะไร มีกี่ประเภท และส่งผลเสียต่อผู้ใช้งานอย่างไรบ้าง?

 

ทำความเข้าใจ สารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ สาร VOCs คืออะไร?

VOCs หรือ Volatile Organic Compounds คือ สารเคมีที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก และอาจมีธาตุอื่น ๆ เช่น ไฮโดรเจน ออกซิเจน ฟลูออไรด์ คลอไรด์ โบรไมด์ ซัลเฟอร์ หรือไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบของสาร VOCs มีความสามารถในการระเหยเป็นไอได้ง่ายที่อุณหภูมิห้องและเป็นพิษต่อร่างกาย โดย VOCs สามารถเกิดขึ้นได้จากกระบวนการทางธรรมชาติ หรือจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้สารเคมีในอุตสาหกรรม การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และการกลั่นปิโตรเลียม

 

สาร VOCs มีกี่ประเภท หากแบ่งตามลักษณะของโมเลกุล

  1. กลุ่ม Non - Chlorinated VOCs หรือ Non - Halogenated Hydrocarbons

Non-Chlorinated VOCs คือสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่ไม่มีอะตอมของคลอรีนเป็นองค์ประกอบ พบได้บ่อยในสิ่งแวดล้อมจากการเผาไหม้ เช่น กองขยะ พลาสติก และการใช้งานสารเคมีบางชนิดในชีวิตประจำวัน การสูดดมสารกลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิด

ตัวอย่างของสาร VOCs กลุ่ม Non - Halogenated VOCs

  • กลุ่มไฮโดรคาร์บอนอะโรมาติก (Aromatic Hydrocarbons) เช่น 

    • เบนซีน (Benzene): เป็นสารก่อมะเร็ง พบได้ในน้ำมันเบนซิน น้ำมันดิบ และควันบุหรี่

    • โทลูอีน (Toluene): ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมสีและกาว

    • ไซลีน (Xylene): ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง

    • ฟีนอล (Phenol): ใช้ในการผลิตสารฆ่าเชื้อโรค, ยาฆ่าแมลง และสารกันบูด

  • กลุ่มไฮโดรคาร์บอนอะลิฟาติก (Aliphatic Hydrocarbons) เช่น

    • ก๊าซโซลีน (Gasoline): เป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับรถยนต์และเครื่องยนต์สันดาปภายในอื่น ๆ

    • เฮกเซน (Hexane): ใช้เพื่อสกัดน้ำมันจากธัญพืชต่าง ๆ อาทิ ถั่วเหลือง ทานตะวัน เมล็ดข้าวโพด

    • อัลดีไฮด์ (Aldehydes) และคีโตน (Ketones): ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมสีและเคลือบผิว

 

  1. กลุ่ม Chlorinated VOCs หรือ Halogenated Hydrocarbons

Chlorinated VOCs คือสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่มีอะตอมของคลอรีนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่า และย่อยสลายได้ช้าในธรรมชาติ พบได้บ่อยในสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง เช่น การรบกวนการทำงานของสารพันธุกรรม การยับยั้งปฏิกิริยาเคมีในเซลล์ และเพิ่มความเสี่ยงในการก่อให้เกิดมะเร็ง

ตัวอย่างของสาร VOCs กลุ่ม Halogenated VOCs

  • คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs): ในอดีตใช้เป็นสารทำความเย็น แต่ปัจจุบันถูกห้ามใช้เนื่องจากมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

  • ออร์แกโนคลอรีน (Organochlorines): ในอดีตใช้เป็นสารฆ่าแมลง และถูกห้ามใช้ในหลายประเทศเนื่องจากมีความคงตัวสูงและสลายตัวได้ยาก

  • ไดออกซิน/ฟิวแรน (Dioxins/Furans): เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาขยะอุตสาหกรรม หรือกระบวนการผลิตสารเคมีบางชนิด

 

สาร VOCs มีกี่ประเภท หากตามลักษณะของโครงสร้าง

  1. กลุ่มอะลิฟาติก ไฮโดรคาร์บอน (Aliphatic Hydrocarbons)

มีลักษณะเป็นสารประกอบที่มีคาร์บอนอะตอมต่อกันเป็นลักษณะเป็นโซ่ตรงหรือโซ่กิ่ง ไม่มีโครงสร้างวงแหวนเบนซีน สามารถแบ่งออกเป็นสามประเภทย่อยตามชนิดของพันธะระหว่างอะตอมคาร์บอน ได้แก่

  • แอลเคน (Alkanes): มีพันธะเดี่ยวระหว่างอะตอมคาร์บอนทั้งหมด

  • แอลคีน (Alkenes): มีอย่างน้อยหนึ่งพันธะคู่ระหว่างอะตอมคาร์บอน

  • แอลไคน์ (Alkynes): มีอย่างน้อยหนึ่งพันธะสามระหว่างอะตอมคาร์บอน

ตัวอย่างของสาร VOCs กลุ่ม Aliphatic Hydrocarbons

  • กลุ่มแอลเคน (Alkanes): มีเทน (Methane), เอเทน (Ethane), โพรเพน (Propane)

  • กลุ่มแอลคีน (Alkenes): เอทิลีน (Ethylene), โพรพิลีน (Propylene)

  • กลุ่มแอลไคน์ (Alkynes): อะเซทิลีน (Acetylene)

 

  1. กลุ่มอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Aromatic Hydrocarbons)

มีลักษณะเป็นสารประกอบที่มีคาร์บอนอะตอมต่อกันเป็นลักษณะวงแหวนเบนซีน ทำให้มีความเสถียรสูง มีคุณสมบัติเด่นคือไม่ละลายน้ำ เนื่องจากมีโครงสร้างเป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว

ตัวอย่างของสาร VOCs กลุ่ม Aromatic Hydrocarbons

  • แนฟทาลีน (Naphthalene): ใช้ในการดับกลิ่นและไล่แมลง

  • ฟีแนนทรีน (Phenanthrene): ใช้ในการผลิตพลาสติก วัตถุระเบิด ยา ยาฆ่าแมลง และสีย้อม

  • แอนทราซีน (Anthracene): ใช้ในการรักษาเนื้อไม้ ผลิตยาฆ่าแมลง และสารเคลือบ

 

  1. กลุ่มออกซิเจน (Oxygenated)

มีลักษณะเป็นสารประกอบที่มีอะตอมของออกซิเจนอยู่ในโครงสร้างโมเลกุล ทำให้มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีแตกต่างไปจากสาร VOCs กลุ่มอื่น ๆ เช่น ความสามารถในการละลายน้ำและการเกิดพันธะไฮโดรเจน และเป็นประเภทที่พบได้ง่ายที่สุดเนื่องจากเป็นสารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย

ตัวอย่างของสาร VOCs กลุ่ม Oxygenated

  • อะซิโตน (Acetone): ใช้เป็นตัวทำละลาย พบในน้ำยาล้างเล็บหรือล้างกาว

  • แอลกอฮอล์ (Alcohols): ใช้เป็นตัวทำละลายและใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค นิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย

  • ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde): ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และน้ำยาสำหรับรักษาสภาพศพ

 

แหล่งที่มาของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) มาจากที่ไหนบ้าง?

สาร VOCs คือสารเคมีที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันและกระบวนการผลิตต่าง ๆ โดยแหล่งที่มาหลักของสาร VOCs ได้แก่

  • กระบวนการอุตสาหกรรม: เช่น การผลิตสารเคมี, การกลั่นน้ำมัน, การผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ รวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตัวทำละลาย

  • ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน: เช่น สีทาบ้าน, สารเคลือบผิว, น้ำยาทำความสะอาด, ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนตัว (น้ำหอม, สเปรย์ฉีดผม) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของสารอินทรีย์ระเหยง่าย

  • การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์: เช่น ควันบุหรี่, ควันจากการเผาไหม้ขยะ, และควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

 

สาร VOCs ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?

 

 ผู้ชายสวมแว่นใส่หน้ากากอนามัยกำลังไอเพราะผลกระทบจากมลพิษ

ในปัจจุบัน สาร VOCs ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการผลิต, ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สีทาบ้าน น้ำยาทำความสะอาด หรือเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศ ซึ่งนอกจากสารเหล่านี้จะก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง อาทิ

 

  1. ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ

สาร VOCs เมื่อสูดดมเข้าไปจะระคายเคืองต่อเยื่อบุโพรงจมูก คอ และปอด ทำให้เกิดอาการไอ จาม น้ำมูกไหล หากสัมผัสในระยะยาวอาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

 

  1. ส่งผลต่อระบบประสาท

สารพิษบางตัวส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ที่สัมผัสหรือสูดดมเกิดอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หรือหากได้รับสาร VOCs ในปริมาณมากจะทำให้สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง หมดสติ และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

  1. ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ

การสัมผัสสาร VOCs บางชนิดยังก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายในด้านอื่น ๆ เช่น ทำให้ผิวหนังระคายเคือง ผื่นแดง หรือไหม้ หากสัมผัสหรือกลืนกินเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีผลกระทบต่ออวัยวะภายใน นอกจากนี้ การได้รับสาร VOCs สะสมในระยะยาวยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดอีกด้วย

 

แม้ว่าหลายโรงงานอุตสาหกรรมยังคงใช้สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในกระบวนการผลิต แต่เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทต่าง ๆ จึงหันมาใช้นวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น KJL เป็นหนึ่งในบริษัทที่นำเทคโนโลยีการพ่นสีฝุ่นแบบอีเล็คโตรสแตติค (Electrostatic Powder Coatings) บนระบบสายพานอัตโนมัติ โดยใช้ประจุไฟฟ้าขั้วบวก-ลบเหนี่ยวนำเม็ดสีฝุ่น ให้เข้าไปยังทุกจุดของชิ้นงาน ด้วยมาตรฐานจาก Jotun และ AkzoNobel ทำให้สินค้าทุกชิ้นของ KJL ไม่ว่าจะเป็นตู้ไฟหรือรางสายไฟ มีความทนทาน สวยงาม ปราศจากตัวทำละลาย ไม่มีสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) และไม่มีสารตะกั่วและสารปรอท ลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น

สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 

LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo

Facebook: facebook.com/KJLElectric