เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมหลาย ๆ ครั้งที่เราใช้ไฟฟ้าปริมาณเท่าเดิมในทุก ๆ เดือน แต่ค่าไฟในแต่ละเดือนกลับไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟในแต่ละเดือนมีความแตกต่างกันก็คือ ค่า Ft ที่ปรากฏอยู่ในบิลค่าไฟ บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า ค่า Ft คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อการใช้ไฟฟ้า รวมถึงเทคนิคในการคำนวณค่า Ft เพื่อช่วยให้สามารถประเมินค่าไฟและวางแผนการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้อย่างเหมาะสม
ค่า Ft คือ “ค่าอัตราไฟฟ้าผันแปร” ซึ่งย่อมาจาก Fuel Adjustment Charge (at the given time) หรือต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า หรือการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่สามารถควบคุมราคาได้ โดยจะมีการปรับอัตราในทุก 4 เดือนโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ค่า Ft เป็นกลไกที่ช่วยกำหนดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจ่าย เพื่อไม่ให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินไป รวมถึงเป็นการกำหนดให้ประชาชนวางแผนในการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างจำเป็น เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
ซึ่งในแต่ละช่วงเวลา ค่า Ft จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันจากภาวะสงครามในเมียนมาจึงส่งผลกระทบต่อการผลิตเชื้อเพลิง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากประเทศอื่น และทำให้ต้นทุนการนำเข้าพลังงานสูงขึ้นตามไปด้วย
ในบางช่วงที่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง เช่น ฤดูร้อนที่ประชาชนใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น และโรงไฟฟ้าในประเทศผลิตไฟฟ้าได้ไม่พอกับความต้องการ รัฐบาลจะต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ หรือผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เพื่อให้รองรับความต้องการใช้งานของประชาชน
เป็นค่าประมาณการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศไทย เพื่อนำมาคำนวณเผื่อสำหรับการสำรองไฟฟ้า โดยปกติจะมีการสำรองไว้มากกว่าความต้องการสูงสุดที่ 15% และประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายแม้ไม่ได้มีการใช้ไฟฟ้าในส่วนนี้อีกด้วย
นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐ หรือค่า Ft สะสม จากในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนักในประเทศไทย ทางรัฐบาลได้มีนโยบายตรึงค่า Ft ไว้เพื่อลดภาระของประชาชน ส่งผลให้มีหนี้สินจากต้นทุนทางไฟฟ้าเกิดขึ้น และต้องปรับค่า Ft เพิ่มในภายหลังเพื่อปลดภาระหนี้เหล่านี้
เนื่องจากค่า Ft คือค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือการควบคุม และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ซึ่งต่างจากค่าพลังงานไฟฟ้าที่กำหนดตายตัวจนกว่ารัฐบาลจะประกาศเปลี่ยนแปลง จึงทำให้แม้เราจะใช้ไฟฟ้าในปริมาณเท่าเดิม แต่เราอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น
ในเดือนมกราคม 2566 มีค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์/หน่วย หากใช้ไฟฟ้าไปทั้งหมด 100 หน่วย จะต้องจ่ายค่าไฟอยู่ที่ 465.11 บาท
ในเดือนธันวาคม 2566 มีค่า Ft อยู่ที่ 20.48 สตางค์/หน่วย หากใช้ไฟฟ้าไปทั้งหมด 100 หน่วย จะต้องจ่ายค่าไฟอยู่ที่ 387.05 บาท
และถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายของทั้งสองเดือนจะแตกต่างกันเพียงประมาณ 76 บาท แต่หากเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นหลายเท่าตัว ค่าใช้จ่ายที่เสียเพิ่มก็อาจจะมากขึ้นถึงหลักพันหรือหลักหมื่นได้
ในทุก ๆ เดือน ทางการไฟฟ้าฯ จะทำการส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้า หรือบิลค่าไฟ เพื่อให้ประชาชนนำไปชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด ซึ่งค่าไฟที่เราจ่ายในแต่ละเดือน จะประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้
เป็นค่าใช้จ่ายที่คำนวณจากต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยปกติค่าพลังงานไฟฟ้าจะมีอัตราคงที่ทุกเดือน แต่อาจมีการปรับราคาในทุก ๆ 3 - 5 ปีตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ณ ขณะนั้น โดยปัจจุบันอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน จะคิดในอัตราก้าวหน้า ตามตารางด้านล่างนี้
ปริมาณการใช้งาน (หน่วย) |
ค่าพลังงานไฟฟ้า (บาท/หน่วย) |
---|---|
15 หน่วยแรก |
2.3488 |
10 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 16 - 25) |
2.9882 |
10 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 26 - 35) |
3.2405 |
65 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 36 - 100) |
3.6237 |
50 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 101 - 150) |
3.7171 |
250 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 151 - 400) |
4.2218 |
หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป |
4.4217 |
ตัวอย่างเช่น หากใช้ไฟฟ้าไปทั้งหมด 84 หน่วย จะต้องจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด (15 x 2.3488) + (10 x 2.9882) + (10 x 3.2405) + (49 x 3.6237) = 275.08 บาท
เป็นต้นทุนค่าบริการอ่านและจดหน่วยไฟฟ้า จัดทำและส่งบิลค่าไฟฟ้า ระบบรับชำระเงินและบริการลูกค้าของการไฟฟ้าฯ ยกตัวอย่างเช่น สำหรับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน จะมีค่าบริการเดือนละ 8.19 บาท และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ใช้ 150 หน่วย/เดือนขึ้นไป จะมีค่าบริการเดือนละ 24.62 บาท เป็นต้น
ค่า Ft ในแต่ละเดือนสามารถคำนวณได้ตามสมการ จำนวนพลังงานไฟฟ้า (หน่วย) x ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) / 100 = ค่า Ft ที่ต้องจ่าย เช่น หากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ใช้ไฟฟ้าไปทั้งหมด 84 หน่วย และค่า Ft ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2567 อยู่ที่ 39.72 สตางค์/หน่วย เราจะต้องจ่ายค่า Ft ทั้งหมด 84 x 39.72 / 100 = 33.36 บาท
นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะคำนวณจากค่าไฟฟ้าฐาน (ค่าพลังงานไฟฟ้า + ค่าบริการ) รวมกับค่า Ft เช่น ค่าไฟฟ้าฐานในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ (275.08 + 8.19) = 283.27 บาท ส่วนค่า Ft อยู่ที่ 33.36 บาท เมื่อคำนวณแล้วจะได้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ (283.27 + 33.36) x 7/100 = 22.16 บาท
ดังนั้น ค่าไฟฟ้าโดยประมาณสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ตามตัวอย่างข้างต้นจะเท่ากับ 275.08 + 8.19 + 33.36 + 22.16 = 338.79 บาท หรือเราสามารถคำนวณโดยใช้บริการระบบประมาณการค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ โดยตรงก็ได้เช่นกัน
ค่า Ft คืออีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่ผู้ใช้งานควรทำความรู้จัก เพื่อให้เข้าใจถึงต้นทุนการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันค่า Ft มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น รวมถึงต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ใช้งานจึงควรวางแผนการใช้ไฟฟ้าให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อช่วยประหยัดเงิน และประหยัดพลังงานเพื่อการใช้งานในอนาคต
อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ใช้ไฟฟ้าควรให้ความสำคัญ คือการซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าในบ้าน เช่น การจัดเก็บสายไฟให้เป็นระเบียบด้วยรางเดินสายไฟ หรือตู้ไฟ ตรวจสอบระบบเดินสายไฟภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ ที่นอกจากจะช่วยสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้งานแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียทางพลังงานที่อาจเกิดจากไฟรั่ว และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยใช่เหตุได้อีกด้วย
KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่
LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo
Facebook: facebook.com/KJLElectric