รู้จักพลาสติก 7 ประเภท ที่สามารถรีไซเคิลได้ พร้อมสัญลักษณ์

2024 - 07 - 31

พลาสติก 7 ประเภท  ที่สามารถรีไซเคิลได้ พร้อมสัญลักษณ์

 

พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ในแทบทุกสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ ถุงพลาสติก หรือแม้กระทั่งเครื่องมืออุปกรณ์ด้านไฟฟ้าบางชนิดก็ล้วนมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ และนอกจากเรื่องของความแข็งแรง ทนทานแล้ว พลาสติกยังมีหลากหลายประเภท รวมถึงวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับ พลาสติก 7 ประเภท คุณสมบัติที่สามารถรีไซเคิลได้ ว่าแต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร และควรเลือกใช้งานอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมสัญลักษณ์พลาสติก 7 ประเภท

 

1. PET/PETE : Polyethylene Terephthalate (พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต)

สารประกอบที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีระหว่าง เอทิลีนไกลคอล (Ethylene glycol) และไดเมทิลเทเรฟทาเลต (Dimethyl terephthalate) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ โดยจัดอยู่ในพลาสติกประเภทคืนรูป หรือ Thermoplastic ทำให้ขึ้นรูปได้หลากหลาย และเป็นประเภทเดียวจากพลาสติกรีไซเคิล 7 ประเภท ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100%

คุณสมบัติของ PET/PETE

เนื้อพลาสติกมีความเหนียว ทนทาน ตกไม่แตก ยืดหยุ่นได้ดี โปร่งใส สามารถมองเห็นทะลุได้ ป้องกันการรั่วซึมของก๊าซและไม่เป็นพิษ เพราะมีเนื้อโมเลกุลสูง ทำให้เกิดการระเหยหรือปนเปื้อนยากกว่าพลาสติกแบบอื่น ๆ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับบรรจุภัณฑ์ของเหลว อาทิ ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำส้มสายชู ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีในชื่อ "ขวด PET" ตามชื่อของพลาสติกชนิดนี้

 

2. HDPE : High-density Polyethylene (พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง)

HDPE เป็นพลาสติก Polyethylene ซึ่งผ่านกระบวนการพอลิเมอร์ไรเซชันภายใต้แรงดันสูง จึงมีความหนาแน่นและมีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลสูง ทำให้มีน้ำหนักเบา แข็งแรง ทนต่อความชื้นและความร้อน และสามารถขึ้นรูปทรงได้ง่าย

คุณสมบัติของ HDPE

มีความแข็งแรง ทนทาน เหนียวและยืดหยุ่น ไม่เปราะแตกง่าย สามารถทนต่อแรงกระแทกได้ดี เนื้อพลาสติกมีสีขาวขุ่น และสามารถเพิ่มสีสันได้ระหว่างการผลิต อีกทั้งยังทนต่อการกัดกร่อนของกรดและเบสได้ดีที่สุดในพลาสติก 7 ประเภท จึงเหมาะกับการผลิตขวดบรรจุภัณฑ์สารเคมีต่าง ๆ เช่น ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ ขวดแชมพู ขวดน้ำยาซักผ้า ขวดน้ำมันเครื่อง หรือบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารอย่างขวดนมและกระปุกยา

 

3. PVC : Polyvinyl Chloride (พอลิไวนิลคลอไรด์)

พลาสติกแข็งที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบหลัก จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในบรรดาพลาสติก 7 ประเภท แต่โดดเด่นด้วยคุณสมบัติด้านความแข็งแรง มีอายุใช้งานยาวนาน อีกทั้งยังมีราคาถูก ทำให้นิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย

คุณสมบัติของ PVC

มีน้ำหนักเบา แข็งแรง เป็นฉนวนไฟฟ้า ทนต่อสภาพอากาศได้ดี ทำให้เกิดการออกซิเดชันหรือเสื่อมสภาพได้ยาก มีข้อจำกัดคือมีความเปราะ สามารถแตกหักได้จากการกระแทกหรือแรงดันสูง แต่สามารถเติมสารเสริมสภาพพลาสติก (Plasticizers) เพื่อช่วยเสริมความยืดหยุ่น เหมาะกับการนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง อาทิ ท่อร้อยสายไฟ ฉนวนหุ้มสายไฟ ท่อประปา สายยาง รวมถึงนำมาทำหนังเทียมสำหรับทำกระเป๋าและเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ

 

4. LDPE : Low-density Polyethylene (พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ)

พลาสติก Polyethylene ที่มีความหนาแน่นต่ำ ผ่านกระบวนการใช้ความร้อนและแรงดันสูง ทำให้มีความบางและเหนียว ซึ่งตรงกันข้ามกับพลาสติก HDPE ที่มีความแข็งและหนา และด้วยแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลที่ต่ำ ทำให้เป็นพลาสติกที่ยืดได้ดีที่สุดในกลุ่มพลาสติก 7 ประเภท

คุณสมบัติของ LDPE

โปร่งใส น้ำหนักเบา มีความลื่นมันในตัว เหนียวและยืดหยุ่นได้ดี ทนต่อการฉีกขาด และไม่เปราะแตกง่าย ทนต่อสารเคมีบางประเภท สามารถกันน้ำรั่วซึมได้ดีเยี่ยม แต่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถป้องกันการซึมผ่านของไขมันได้ และไม่ทนต่อความร้อน เหมาะกับการผลิตถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า ถุงก๊อบแก๊บ, พลาสติกห่อแพ็กขวดน้ำ, แผ่นฟิล์มแรปอาหาร, ขวดพลาสติกชนิดบีบได้, ฝาขวดน้ำ เป็นต้น

 

5. PP : Polypropylene (พอลิพรอพิลีน)

อยู่ในกลุ่ม Thermoplastic ที่มีความหนาแน่นต่ำมาก ทำให้สามารถขึ้นรูปทรงได้หลากหลาย อีกทั้งยังมีความปลอดภัยเพราะเป็น Food Grade Plastic นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร

คุณสมบัติของ PP

มีน้ำหนักเบาที่สุดในพลาสติก 7 ประเภท ขึ้นรูปได้ง่าย ทนความร้อนและความเย็นได้เป็นอย่างดี ทนต่อสารเคมี ไม่ทิ้งสารตกค้างเมื่อสัมผัสกับอาหาร และทนต่อแรงกระแทก ไม่แตกหักหรือฉีกขาดง่าย มักใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารอย่าง ถุงร้อน กล่องใส่อาหาร ถ้วยโยเกิร์ต ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แก้วพลาสติก และจาน-ชามพลาสติก

 

6. PS : Polystyrene (พอลิสไตรีน)

หรือที่เรามักจะคุ้นเคยในฐานะของ กล่องโฟมใส่อาหาร เป็น Thermoplastic ที่ผลิตและใช้งานมาอย่างยาวนาน เกิดจากการนำสารไฮโดรคาร์บอนจากการกลั่นน้ำมันมาผ่านกระบวนการ ทำให้เกิดเป็นพลาสติกที่มีความฟูและเบา รับน้ำหนักได้ดี ถือเป็นกลุ่มพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยากที่สุดและค่อนข้างเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

คุณสมบัติของ PS

น้ำหนักเบา สามารถหลอมเป็นของเหลวได้ ขึ้นรูปได้ง่าย ลักษณะแข็ง ผิวมันวาว กันน้ำ ทนแรงกระแทกได้สูง อีกทั้งยังมีราคาประหยัด แต่มีข้อจำกัดคือเปราะแตกได้ง่าย ไม่ทนความร้อน และเป็นหนึ่งในพลาสติก 7 ประเภทที่ติดไฟง่าย มักนำมาผลิตเป็นภาชนะโฟม ช้อนส้อมพลาสติก ฝาปิดแก้วกาแฟ บรรจุภัณฑ์กันกระแทก แผ่นโฟมฝึกว่ายน้ำ กล่องซีดี ฉนวนกันความร้อน เป็นต้น

 

7. Other (พลาสติกอื่น ๆ)

พลาสติกที่ไม่ได้อยู่ใน 6 ประเภทข้างต้น แต่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ตัวอย่างพลาสติกในกลุ่มนี้ ได้แก่ โพลีคาร์บอเนต (PC), ไบโอพลาสติก, ไนลอน (PA) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพลาสติกอีกประเภท คือ ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene) ซึ่งอาจจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับพลาสติกประเภทอื่น ๆ หรือให้อยู่ในกลุ่มแยกเฉพาะโดยใช้ตัวอักษร “ABS” แทนตัวเลข โดยในประเทศไทยระบุให้ ABS อยู่ในกลุ่มของพลาสติกประเภทที่ 7 หรือประเภทอื่น ๆ

คุณสมบัติของพลาสติกอื่น ๆ

มีความแข็งแรง ทนความร้อน ทนต่อแรงกระแทกและการกัดกร่อนได้เป็นอย่างดี มักนำมาผลิตเป็น ปากกา ขวดนมเด็ก หมวกนิรภัย ไฟจราจร ป้ายโฆษณา เป็นต้น แต่พลาสติกประเภทนี้มีโครงสร้างโมเลกุลที่ซับซ้อน ส่งผลให้การรีไซเคิลทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม พลาสติกบางชนิดยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดและเทคโนโลยีที่ใช้ในการรีไซเคิล

 

สัญลักษณ์พลาสติก 7 ประเภท

สัญลักษณ์สามเหลี่ยมที่มีเลขอยู่ภายในที่เราเห็นบนผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นรหัสที่บอกถึงประเภทของพลาสติกชนิดนั้น ๆ ซึ่งมีความสำคัญในการนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพื่อลดปริมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม

สัญลักษณ์ พลาสติก 7 ประเภท

 

7 ประเภทพลาสติกนี้ แต่ละประเภทรีไซเคิลเป็นอะไรได้บ้าง ?

กระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติกในเครื่องรีไซเคิล

 

  • PET/PETE (Polyethylene Terephthalate)

สามารถรีไซเคิลกลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ หรือนำไปทำเส้นใยโพลีเอสเตอร์สำหรับผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า ชุดเครื่องนอน และชุด PPE สำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

  • HDPE (High-density Polyethylene)

สามารถนำมารีไซเคิลเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ ลังพลาสติก พาเลท ไม้สังเคราะห์ หรือโต๊ะปิกนิกที่ใช้ในพื้นที่กลางแจ้ง

  • PVC (Polyvinyl Chloride)

สามารถนำมารีไซเคิลเป็นท่อประปาและข้อต่อท่อเพื่อนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง รวมถึงรองเท้า PVC กันน้ำ และกรวยจราจร

  • LDPE (Low-density Polyethylene)

ประเภทพลาสติกที่ค่อนข้างรีไซเคิลได้ยาก จึงสามารถนำกลับมาทำเป็นถุงขยะ ถุงหูหิ้ว ถังขยะ และแผ่นฟิล์มต่าง ๆ ได้เท่านั้น

  • PP (Polypropylene)

สามารถนำมารีไซเคิลเป็นกล่อง อะไหล่รถยนต์ต่าง ๆ อาทิ กล่องแบตเตอรี่ กันชน ไฟท้าย ไม้กวาดพลาสติก เฟอร์นิเจอร์พลาสติก เป็นต้น

  • PS (Polystyrene)

สามารถรีไซเคิลเป็นไม้แขวนเสื้อ กรอบรูป เครื่องใช้สำนักงาน แผงสวิตช์ไฟ ฉนวนป้องกันความร้อน แผงไข่ไก่ เป็นต้น

  • Other

สามารถนำไปหลอมรวมกับพลาสติกประเภทอื่น ๆ เพื่อผลิตเป็นท่อน้ำ พุกพลาสติก ล้อรถ พาเลท และเฟอร์นิเจอร์ใช้กลางแจ้ง

 

พลาสติกจึงเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่มีประโยชน์ ด้วยคุณสมบัติด้านความแข็งแรง ทนต่อการกัดกร่อน ทนความร้อน โดยเฉพาะในกลุ่มพลาสติก 7 ประเภท อย่างพลาสติก ABS ที่มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม และนิยมนำมาใช้ผลิตเป็นตู้ไฟพลาสติกกันน้ำ กล่องพักสายไฟสำหรับใช้งานกลางแจ้ง KJL ผลิตและจัดจำหน่าย ตู้ไฟ รางสายไฟ และอุปกรณ์ด้านระบบไฟฟ้า ที่ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ตู้ไฟเหล็ก ตู้ไฟสเตนเลส รางไวร์เวย์ รางเคเบิ้ลเทรย์ รางเคเบิ้ลแลดเดอร์ งานโลหะแผ่นสั่งผลิตพิเศษ และ KJL Plas Series สินค้าพลาสติกกันน้ำ ผลิตจาก ABS 100% ผ่านการรับรองมาตรฐานกันฝุ่นกันน้ำ IP65 จึงปลอดภัยสำหรับงานไฟฟ้าทั้งในอาคารและกลางแจ้ง

 

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 

LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo

Facebook: facebook.com/KJLElectric