Preventive Maintenance คืออะไร เลือกอย่างไรให้เหมาะ

2024 - 12 - 16

ภาพปกบทความ Preventive Maintenance คืออะไร

การปฏิบัติงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องจักรและชิ้นส่วนต่าง ๆ เสมอ เพราะเมื่อใช้งานเครื่องจักรไปนาน ๆ การสึกหรอและความเสียหายอาจส่งผลให้ขั้นตอนการทำงานเกิดการติดขัดได้ ดังนั้น Preventive Maintenance (PM) คือหนึ่งในแนวทางสำคัญที่ช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า ด้วยการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ

บทความนี้จะพาคุณมาทำความเข้าใจว่า Preventive Maintenance คืออะไร มีกี่ประเภท และควรเลือกวิธีการป้องกันแบบใดให้เหมาะสมกับลักษณะของอุตสาหกรรมและเครื่องจักรที่แตกต่างกันออกไป

 

Preventive Maintenance คืออะไร?

Preventive Maintenance หมายถึง การดูแล บำรุงรักษาอุปกรณ์ เครื่องจักร หรือโครงสร้างต่าง ๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรมตามระยะเวลา สภาพการใช้งาน หรือการคาดการณ์ที่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในระหว่างการใช้งานที่อาจทำให้การผลิตหยุดชะงัก และลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมในระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนเครื่องจักร A มีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 ชั่วโมง การทำ Preventive Maintenance (PM) คือการวางแผนเปลี่ยนชิ้นส่วนเครื่องจักรในระยะเวลาไม่เกิน 9,900 - 9,950 ชั่วโมง เป็นต้น

 

แนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง Preventive Maintenance

แนวคิดการบำรุงรักษาเชิงป้องกันถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความต้องการเครื่องจักรในการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย Preventive Maintenance เกิดจากแนวคิดหลัก ๆ ดังนี้

  • ป้องกันดีกว่าแก้ไข

โดยทั่วไปการบำรุงรักษาเชิงป้องกันจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการซ่อมแซมเมื่อเกิดความเสียหายอย่างฉับพลัน เนื่องจากการซ่อมแซมอาจต้องใช้อุปกรณ์และชิ้นส่วนอะไหล่มากกว่า และอาจต้องใช้เวลาในการดำเนินงานที่นานขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักในการผลิตและสูญเสียผลผลิต

  • ยืดอายุการใช้งาน

Preventive Maintenance คือวิธีที่ช่วยลดความเสียหายของเครื่องจักรและระบบต่าง ๆ และยืดอายุในการใช้งานให้ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่หรือการซ่อมแซมเครื่องจักรที่เสียหายในระยะยาว

  • เพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในอุตสาหกรรม

การบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเสียหายที่ไม่คาดคิดระหว่างการทำงาน ทำให้กระบวนการผลิตเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ประเภทของการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)

ช่างเทคนิคกำลังทำ Preventive Maintenance

 

โดยทั่วไปแล้ว Preventive Maintenance สามารถแบ่งได้ตามลักษณะการซ่อมบำรุง ดังนี้

 

  1. การบำรุงรักษาตามเวลา (Time-Based Maintenance)

การบำรุงรักษาตามเวลา เป็นวิธีการบำรุงรักษาเชิงป้องกันที่วางแผนการบำรุงรักษาไว้ล่วงหน้า โดยกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอน เช่น รายปี รายไตรมาส หรือรายเดือน โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการบำรุงรักษาแต่ละครั้ง สามารถดูรายละเอียดได้จากคู่มือการใช้งานของเครื่องจักร หรือสอบถามจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายได้โดยตรง

ข้อดี

  • สามารถวางแผนการบำรุงรักษาได้ล่วงหน้า ทำให้ดำเนินการได้ง่ายขึ้น เพราะมีเวลาที่กำหนดเอาไว้ชัดเจน

  • ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน เนื่องจากเครื่องจักรมีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ

  • ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม และยืดอายุการใช้งานเครื่องจักร

ข้อเสีย

  • บางครั้งหากมีช่วงระยะเวลาในการซ่อมบำรุงนานเกินไป อาจทำให้ไม่สามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที

  • หากระยะเวลาบำรุงรักษาสั้นเกินไป อาจทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควร เพราะในบางครั้งชิ้นส่วนอาจยังอยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน

  • อาจคาดการณ์การสึกหรอได้ไม่แม่นยำเท่าที่ควร เพราะเครื่องจักรบางประเภทอาจสึกหรอได้ไวขึ้นจากสภาพแวดล้อม ระยะเวลาการใช้งาน หรือคุณภาพของชิ้นส่วนนั้น ๆ

 

  1. การบำรุงรักษาตามสภาพ (Condition-Based Maintenance)

การบำรุงรักษาตามสภาพ เป็นการบำรุงรักษาเชิงป้องกันที่อาศัยการตรวจสอบสภาพของเครื่องจักรอุปกรณ์แบบเรียลไทม์ โดยใช้เซนเซอร์หรือเครื่องมือวัดต่างๆ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น ค่าความสั่นสะเทือน อุณหภูมิ หรือแรงดัน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อประเมินสภาพของเครื่องจักรและคาดการณ์จุดที่อาจเกิดปัญหาได้ล่วงหน้า

ข้อดี

  • สามารถวิเคราะห์และประเมินความเสียหายได้อย่างแม่นยำ และสามารถซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที

  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามากกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องตรวจสอบหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนทุกครั้งตามระยะเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังสามารถใช้เครื่องจักรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและคุ้มค่า

ข้อเสีย

  • จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงในช่วงแรก สำหรับการติดตั้งเครื่องมือวัดและวิเคราะห์ข้อมูล

  • อาจมีความผิดพลาดในการวิเคราะห์และประเมินความผิดปกติ หากช่างซ่อมบำรุงไม่มีประสบการณ์มากพอ หรือข้อมูลมีการผิดพลาดจากปัจจัยภายนอก

 

  1. การบำรุงรักษาตามการใช้งาน (Usage-Based Maintenance)

เครื่องจักรบางประเภทที่ใช้งานหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะมีอัตราการสึกหรอสูงกว่าปกติ การบำรุงรักษาตามการใช้งานจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมในการตรวจสอบสภาพของเครื่องจักรอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น การสึกหรอของชิ้นส่วน การรั่วซึมของของเหลว และการเกิดความร้อนสูงเกินไป วิธีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ เครื่องจักรกลในโรงงาน หรืออุปกรณ์ในสายการผลิต

ข้อดี

  • ช่วยลดต้นทุนในการบำรุงรักษา ลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอะไหล่บางส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้แม้ถึงระยะเวลาที่กำหนด

  • ลดการหยุดทำงานที่ไม่จำเป็น ทำให้การดำเนินงานราบรื่น ไม่ติดขัด และช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร เนื่องจากการบำรุงรักษาจะดำเนินการเมื่อเครื่องจักรจำเป็นต้องได้รับการดูแลจริง ๆ เท่านั้น

  • หากเครื่องจักรมีสัญญาณของการสึกหรอหรือความผิดปกติก่อนกำหนด ก็สามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันที ทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดความเสียหายร้ายแรงและหยุดชะงักในการผลิต

ข้อเสีย

  • หากเป็นเครื่องจักรบางประเภทที่ใช้งานอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้ต้องมีการซ่อมบำรุงบ่อยกว่าปกติ ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าการ Preventive Maintenance ตามเวลา

  • หากประเมินอาการผิดปกติคลาดเคลื่อน อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการวางแผนซ่อมบำรุงได้

  •  จำเป็นต้องลงทุนในระบบหรือซอฟต์แวร์สำหรับเก็บข้อมูล รวมถึงการจ้างบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง

 

  1. การบำรุงรักษาตามความผิดพลาดที่คาดการณ์ได้ (Predictive Maintenance)

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบำรุงรักษาเครื่องจักร Predictive Maintenance เป็นแนวทางการดูแลรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ที่โดยอาศัยข้อมูลและเทคโนโลยีในการทำนายเมื่อใดที่ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องจักรจะเกิดความเสียหาย เพื่อให้สามารถวางแผนการบำรุงรักษาได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที

ข้อดี

  • สามารถประเมินอาการผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดงานเพื่อทำการตรวจสอบ ทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานราบรื่น ไม่ติดขัด

  • ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เพราะลงทุนกับโซลูชันเพียงครั้งเดียว และสามารถอัปเดตได้ในระยะยาวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

  • ข้อมูลที่ได้มีความแม่นยำค่อนข้างสูง เพราะ AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากและค้นหารูปแบบที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว

ข้อเสีย

  • จำเป็นต้องเลือกติดตั้งโซลูชันที่มีคุณภาพ และประเมินผลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงต้น จึงอาจไม่เหมาะกับโรงงานขนาดเล็กที่มีงบจำกัด

  • บางครั้งข้อมูลที่ประมวลผลอาจมีผิดพลาด จึงต้องอาศัยการตรวจสอบจากมนุษย์ควบคู่ไปด้วย

 

  1. การบำรุงรักษาเชิงรุก (Proactive Maintenance)

แม้ว่า Preventive Maintenance คือวิธีการที่จะช่วยในการตรวจสอบระบบเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยในการใช้งาน แต่ปัจจุบัน เพื่อให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น หลาย ๆ โรงงานจึงนำการบำรุงรักษาเชิงรุก ซึ่งเป็นแนวทางการดูแลรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มุ่งเน้นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดความเสียหายจริง โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ประวัติการซ่อมบำรุง สภาพการทำงานของเครื่องจักร และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อคาดการณ์และแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า

ข้อดี

  • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายจริง เพราะเป็นการดูแลรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ล่วงหน้าก่อนเกิดความเสียหาย

  • ทำให้เครื่องจักรทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ลดโอกาสที่จะเกิดการหยุดชะงัก ซึ่งส่งผลดีต่อกระบวนการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์

ข้อเสีย

  • อุปกรณ์บางชนิดอาจไม่จำเป็นต้องใช้ Proactive Maintenance เนื่องจากอายุการใช้งานสั้น หรือเป็นอุปกรณ์ที่สามารถซ่อมแซมได้ง่ายเมื่อเกิดความเสียหาย

  • การบำรุงรักษาเชิงรุกต้องมีการวางแผนระยะยาวและการบริหารจัดการที่ดี หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการติดตามผลและดูแล

 

ปัจจัยในการเลือกประเภท Preventive Maintenance

การบำรุงรักษาเชิงป้องกันภายในโรงงานอุตสาหกรรม

 

การทำ Preventive Maintenance ให้ได้ประสิทธิภาพนั้น ผู้ใช้งานควรเลือกประเภทของการบำรุงรักษาให้เหมาะสม โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ประเภทของเครื่องจักร

สำหรับเครื่องจักรที่มีระบบภายในซับซ้อน หรือชิ้นส่วนที่ต้องประกอบกลับอย่างละเอียด การบำรุงรักษาเชิงป้องกันแบบตามสภาพหรือตามการใช้งานอาจเหมาะสมกว่าการบำรุงรักษาตามระยะเวลา เนื่องจากการถอดประกอบเครื่องจักรบ่อยครั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหาย เช่น ชิ้นส่วนหลุดหาย หรือการประกอบกลับไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องจักรทำงานผิดปกติได้

  • ความสำคัญของเครื่องจักร

เครื่องจักรที่มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิต ควรได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสที่เครื่องจักรจะเกิดความเสียหายกะทันหันและส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงาน โดยเน้นการ Preventive Maintenance แบบตามระยะเวลา เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องจักรจะสามารถทำงานได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด

  • งบประมาณ

หากมีงบประมาณที่เพียงพอ การบำรุงรักษาตามระยะเวลาจะช่วยให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาและยืดอายุการใช้งานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในเครื่องจักรบางประเภทที่มีระบบภายในที่ซับซ้อน และต้องการการประเมินผลอย่างละเอียด ควรลงทุนเพื่อติดตั้งเซนเซอร์หรือเครื่องวัดค่าต่าง ๆ สำหรับการบำรุงรักษาตามสภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัย

หรือหากมีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด อาจเลือกการบำรุงรักษาตามการใช้งาน เพื่อให้สามารถใช้เครื่องจักรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและคุ้มกับเงินที่ลงทุน และไม่สิ้นเปลืองงบโดยใช่เหตุ

 

ตัวอย่างการนำ Preventive Maintenance ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

  • Preventive Maintenance ในโรงงานผลิตอาหาร 

อุตสาหกรรมอาหารนั้นให้ความสำคัญกับอนามัยและความปลอดภัยเป็นพิเศษ การบำรุงรักษาเชิงป้องกันในโรงงานจึงมักใช้การบำรุงรักษาตามเวลาและสภาพควบคู่กัน โดยมีการกำหนดตารางการตรวจสอบและทำความสะอาดเครื่องจักรเป็นประจำ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอม นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดค่าต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และความดัน เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาหารเป็นพิษและรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • Preventive Maintenance ในโรงงานอุตสาหกรรม

เนื่องจาก Preventive Maintenance คือขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมการผลิต หลายโรงงานจึงนำโซลูชันดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น Machine Learning และ Deep Learning มาประยุกต์ใช้ในการบำรุงรักษา เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากเซนเซอร์ต่าง ๆ และคาดการณ์จุดที่อาจเกิดปัญหาล่วงหน้า ทำให้สามารถวางแผนการบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร

  • Preventive Maintenance ในโรงพยาบาล

ในการทำงานทางการแพทย์ สิ่งสำคัญที่สุดคือความแม่นยำและความปลอดภัย เนื่องจากทุกวินาทีและทุกความผิดพลาดสามารถส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วยได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงสูงสุด ควรมีการบำรุงรักษาเชิงรุกสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ทำงานอย่างถูกต้องและปลอดภัย พร้อมรองรับการใช้งานในทุกสถานการณ์สำคัญ

 

ดังนั้น การทำ Preventive Maintenance หมายถึง การเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้อุปกรณ์มีอายุการใช้งานยาวนาน ลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักและค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด นอกจากนี้ การเลือกวิธีการบำรุงรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะอุตสาหกรรมและเครื่องจักรที่แตกต่างกัน ยังช่วยให้การทำงานราบรื่นและลดโอกาสของการเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย

 

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม หนึ่งในระบบที่ควรมีการบำรุงรักษานอกเหนือจากในไลน์การผลิตแล้ว คือส่วนของระบบไฟฟ้าที่ควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการเลือกตู้ไฟที่มีคุณภาพสูง ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้มีความแข็งแรง ทนทาน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขัดข้อง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการซ่อมบำรุงบ่อยครั้ง และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของระบบไฟฟ้าได้ในระยะยาว

 

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางสายไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น

สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 

LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo

Facebook: facebook.com/KJLElectric