ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าในระบบจำหน่ายแรงต่ำ (Low Voltage Power Distribution) มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการใช้เครื่องจักรเป็นจำนวนมาก ซึ่งโหลดประเภทเครื่องจักรหรือมอเตอร์ที่ถูกติดตั้งและใช้งานอยู่เป็นจำนวนมากในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น จะทำให้ค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (Power Factor) ของระบบไฟฟ้ามีค่าต่ำลง ส่งผลทำให้คุณภาพกำลังไฟฟ้า (Power Quality) ของระบบไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่แย่ลง เช่น กระแสไฟฟ้าในระบบมีค่าสูงขึ้น ค่ากำลังสูญเสียในระบบเพิ่มขึ้น หรืออาจทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าในระบบมีค่าลดลง (แรงดันตก) เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มขนาดของอุปกรณ์จำหน่ายและส่งไฟฟ้า เช่น สายไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้า
การปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าให้สูงขึ้น นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าของระบบแล้ว ยังส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระให้กับการไฟฟ้าฯ ลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าของระบบต่ำกว่า 0.85 จะต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมในส่วนของค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าหรือเพาเวอร์แฟคเตอร์ ในอัตรา 56.07 บาทต่อกิโลวาร์ ดังนั้น การติดตั้งคาปาซิเตอร์ และ Power Factor Controller หรือ VAR Regulator ให้ทำงานร่วมกันในระบบไฟฟ้าภายในโรงงานเพื่อควบคุมให้ค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าในระบบมีค่าสูงตลอดเวลาจึงมีความสำคัญ (ปกติจะตั้งค่าไว้ที่ 0.9 - 0.95) และส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าในส่วนนี้ลงได้ เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าร่วมกับตู้จ่ายไฟฟ้าหรือแผงสวิตช์หลักดังรูปที่ 1 (Main low-voltage switchboard, MLVS)
กรณีศึกษา: โรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้ไฟฟ้าในรอบเดือนหนึ่ง สมมติว่ามีความต้องการกำลังไฟฟ้าเฉลี่ย (Average power, P) ใน 15 นาทีสูงสุดอยู่ที่ 1,000 kW และมีค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าในระบบอยู่ที่ 0.7 หมายความว่าโรงงานนี้จะมีความต้องการกำลังไฟฟ้าเสมือนหรือกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ (Reactive power, Q) อยู่ที่ 1,000 x tan (cos-1 0.7) = 1,020 kVAR
ทั้งนี้ การไฟฟ้าฯ จะยอมให้ทางผู้ใช้ไฟฟ้าใช้กำลังไฟฟ้าในเงื่อนไขที่มีค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าต่ำสุดที่ 0.85 นั่นคือผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถมีความต้องการกำลังไฟฟ้าเสมือนได้ไม่เกิน 1,000 x tan (cos-1 0.85) = 620 kVAR
นั่นหมายความว่าโรงงานนี้ต้องชำระค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนเพิ่มเติม เพื่อเป็นการชดเชยค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าหรือค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์เท่ากับ 56.07 x (1,020 – 620) = 22,428 บาท ดังนั้น หากโรงงานนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าและควบคุมให้ค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้ามีค่าสูงกว่า 0.85 จะทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ได้ถึง 269,136 บาทต่อปี
นอกจากการปรับปรุงค่าพาวเวอร์แฟกเตอร์แล้ว การเลือกใช้รางครอบสายไฟที่มีคุณภาพ ก็มีส่วนสำคัญต่อระบบไฟฟ้า ช่วยเก็บสายไฟให้เป็นระเบียบ ดูสวยงาม เป็นสัดส่วน ป้องกันสายไฟสัมผัสกัน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
หากวิศวกรไฟฟ้า หรือช่างไฟท่านใดต้องการตู้ไฟคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐาน สามารถดูรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่
KJL LINE Official Account: @KJL.connect