อะลูมิเนียม (Aluminum – AL) เป็นธาตุโลหะที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและอุตสาหกรรมทั่วโลก โดดเด่นด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ทำให้เป็นที่ต้องการในตลาด บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักว่า อะลูมิเนียม คืออะไร เป็นโลหะชนิดไหน พร้อมเรียนรู้ประโยชน์ของอะลูมิเนียม
อะลูมิเนียมเป็นโลหะประเภทใด?
อะลูมิเนียม คือธาตุเคมีในตารางธาตุที่มีสัญลักษณ์ Al เป็นโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก (Non-Ferrous Metal) ที่มีปริมาณมากที่สุดในเปลือกโลก รองจากออกซิเจนและซิลิคอน อย่างไรก็ตาม อะลูมิเนียมไม่สามารถพบได้ในรูปบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ แต่จะรวมตัวอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ โดยเฉพาะในรูปของแร่บอกไซต์ (Bauxite) ซึ่งเป็นแหล่งหลักในการผลิตอะลูมิเนียมในเชิงพาณิชย์
ประโยชน์ของอะลูมิเนียม และคุณสมบัติเด่นที่ควรรู้
อะลูมิเนียมได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีคุณสมบัติที่หลายอย่าง เช่น
1. น้ำหนักเบา
อะลูมิเนียมมีน้ำหนักเพียง 1 ใน 3 ของเหล็กหรือทองแดง เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการลดน้ำหนักวัตถุ เช่น ยานยนต์ การบิน และการก่อสร้าง ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิง
2. รองรับน้ำหนักได้ดี
แม้จะมีน้ำหนักเบา แต่อะลูมิเนียมสามารถขึ้นรูปเป็นโลหะผสม (Alloy) ที่มีความแข็งแรงสูงเทียบเท่าเหล็กได้ ทำให้เป็นวัสดุสำหรับโครงสร้างที่ต้องการทั้งความเบาและความแข็งแกร่ง
3. ทนทานต่อการกัดกร่อน
อะลูมิเนียมมีความสามารถในการสร้างชั้นออกไซด์บาง ๆ ขึ้นมาเคลือบผิวเองตามธรรมชาติ เมื่อสัมผัสกับอากาศ ชั้นฟิล์มออกไซด์นี้มีความหนาแน่นและแข็งแรง ช่วยป้องกันการกัดกร่อนจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี ทำให้ไม่เป็นสนิมเหมือนเหล็ก เหมาะกับการใช้งานในสภาพอากาศที่หลากหลาย
4. นำไฟฟ้าได้ดี
อะลูมิเนียมเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ดี รองจากทองแดง ทำให้ถูกนำไปใช้ในสายส่งไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ต้องการการนำไฟฟ้าและมีน้ำหนักเบา
5. นำความร้อนได้ดี
คุณสมบัติการนำความร้อนที่ดีทำให้อะลูมิเนียมถูกใช้ในอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน หม้อน้ำรถยนต์ อุปกรณ์ทำอาหาร และชิ้นส่วนระบายความร้อน (Heat Sink) ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
6. ขึ้นรูปง่าย
อะลูมิเนียมสามารถขึ้นรูปได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรีด (Extrusion), การหล่อ (Casting), การตีขึ้นรูป (Forging), การรีดแผ่น (Rolling) หรือการดึง (Drawing) ทำให้สามารถผลิตเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ตามต้องการ
7. ไม่เป็นพิษ (Non-Toxic)
อะลูมิเนียมไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ ทำให้ปลอดภัยสำหรับการนำไปผลิตภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เช่น กระป๋องเครื่องดื่ม หรือฟอยล์ห่ออาหาร
8. รีไซเคิลได้ 100%
อะลูมิเนียมสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และการรีไซเคิลยังใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตใหม่จากแร่ถึง 95%
อะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมไฟฟ้า

ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายอย่าง ทำให้อะลูมิเนียมเป็นตัวเลือกสำหรับการใช้งานที่หลากหลายในระบบส่งจ่ายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
สายไฟฟ้าและสายส่งกำลัง (Electrical Wires and Power Transmission Lines)
อะลูมิเนียมเป็นวัสดุหลักในการผลิตสายไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งกำลังไฟฟ้า ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าทองแดงมาก (ประมาณ 1 ใน 3) แม้การนำไฟฟ้าจะต่ำกว่าอยู่ที่ (60-65% ของทองแดง) แต่ช่วยลดภาระโครงสร้างเสา ลดต้นทุนการติดตั้งและบำรุงรักษา ทั้งยังมีราคาถูกกว่า
บัสบาร์ (Busbars)
บัสบาร์อะลูมิเนียมมีน้ำหนักเบากว่าบัสบาร์ทองแดงในขนาดที่เท่ากัน โดยใช้เป็นตัวนำไฟฟ้าหลักในแผงควบคุมไฟฟ้า (Main Distribution Board – MDB) หรือ ตู้ควบคุมมอเตอร์ (Motor Control Center – MCC) เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังวงจรย่อยต่าง ๆ แต่ต้องระวังเรื่องการออกแบบจุดเชื่อมต่อและข้อต่อให้เหมาะสม เพื่อป้องกันความร้อนสะสมที่จุดต่อ
ส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
อะลูมิเนียมยังถูกใช้ในส่วนประกอบภายในของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท เช่น ตัวเก็บประจุ (Capacitors), ขดลวดบางชนิด (สำหรับงานที่ไม่ใช่โหลดหนักมาก), และแผ่นวงจรพิมพ์บางประเภทที่เน้นการนำความร้อน
ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้อะลูมิเนียมเป็นโลหะที่นิยมใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมไฟฟ้าด้วยเช่นกัน และเพื่อให้งานระบบไฟฟ้ามีความปลอดภัย ตรงตามมาตรฐาน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จัดการสายไฟที่มีคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ
KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ รวมถึง รางวายเวย์ และ Cable Tray ที่ผลิตจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน และได้มาตรฐาน ช่วยจัดระเบียบสายไฟ ปกป้องสายไฟให้ปลอดภัยจากปัจจัยภายนอก และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของระบบไฟฟ้า ให้ทุกการติดตั้งและบำรุงรักษาง่ายขึ้น และปลอดภัยมากที่สุด
นอกจากนี้ KJL ยังมีความเชี่ยวชาญในการรับสั่งทำตู้ไฟและรางไฟ ที่ทำจากอะลูมิเนียม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือขนาดใด สามารถปรับแต่งให้เข้ากับการใช้งาน พร้อมตอบสนองทุกความต้องการของคุณได้อีกด้วย