PPE คืออะไร มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลประเภทไหนบ้าง

2024 - 11 - 19

การปฏิบัติงานในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมอย่างโรงงานอุตสาหกรรม ไซต์งานก่อสร้าง หรือโรงพยาบาลซึ่งมีความเสี่ยงสูงทั้งจากสารเคมี การปนเปื้อนเชื้อโรค หรือการเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องจักรระหว่างปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือที่รู้จักในชื่อของ PPE เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและอันตรายต่อสุขภาพ การทำความรู้จักอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกอุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

บทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักว่า PPE ย่อมาจากอะไร ทำไมถึงควรใช้อุปกรณ์ PPE ระหว่างปฏิบัติงาน และอุปกรณ์ PPE ที่ใช้งานตามมาตรฐานมีอะไรบ้าง

 

PPE คืออะไร ย่อมาจากอะไร?

คำว่า PPE ย่อมาจาก Personal Protective Equipment หรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับสวมใส่เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายในการปฏิบัติงานอย่างร้ายแรงจากสภาพแวดล้อม โดยจะใช้ในการป้องกันส่วนสำคัญของร่างกาย เช่น ศีรษะ ดวงตา หู ระบบทางเดินหายใจ มือ เท้า เป็นต้น

 

ทำไมต้องใช้ PPE

การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงานทุกคน ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ป้องกันอันตราย

อุปกรณ์ PPE เป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน เช่น การตกกระแทก, การสูดดมสารเคมี, การสัมผัสเชื้อโรค, ความร้อน, และของมีคม การเลือกใช้อุปกรณ์ PPE ที่เหมาะสมจะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

  • ปฏิบัติตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานยังจำเป็นต้องสวมอุปกรณ์ PPE ตลอดระยะเวลา ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 22 ที่ระบุว่า

“ลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและดูแลรักษาอุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งให้สามารถใช้งานได้ตามสภาพและลักษณะของงานตลอดระยะเวลาทำงาน ในกรณีที่ลูกจ้างไม่สวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว ให้นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดการทำงานนั้นจนกว่าลูกจ้างจะสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว”

 

อุปกรณ์ PPE มีอะไรบ้าง

อุปกรณ์ PPE ออกแบบมาเพื่อป้องกันส่วนภายนอกของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ดวงตา มือ เท้า และระบบทางเดินหายใจ จากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บโดยสามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  1. อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ (Head Protection)

หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของหมวกนิรภัยหรือหมวกเซฟตี้ มีหน้าที่หลักในการป้องกันศีรษะจากการกระแทกของวัตถุต่าง ๆ หรืออันตรายอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสมอง โดยทั่วไปหมวกนิรภัยจะผลิตจากวัสดุที่แข็งแรง เช่น พลาสติก, ไฟเบอร์กลาส หรือโลหะ และมีการออกแบบให้กระจายแรงกระแทกเพื่อลดความเสียหายต่อศีรษะ

หมวกนิรภัยสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามมาตรฐานความปลอดภัย ANSI Z89.1 ได้แก่

  • Class G (General): ใช้สำหรับงานก่อสร้างทั่วไป ช่วยลดอันตรายจากไฟฟ้าแรงต่ำ โดยสามารถต้านแรงดันไฟฟ้าที่ 2,200V ที่ความถี่ 50 Hz เป็นเวลา 1 นาที

  • Class E (Electrical): ใช้สำหรับงานก่อสร้างหรืองานไฟฟ้าแรงสูง สามารถต้านแรงดันไฟฟ้าที่ 20,000V ที่ความถี่ 50 Hz เป็นเวลา 3 นาที

  • Class C (Conductive): ใช้สำหรับงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า เช่น งานขุดเจาะน้ำมัน โรงกลั่น เนื่องจากหมวกประเภทนี้ผลิตจากโลหะ ทำให้สามารถนำไฟฟ้าได้

  1. อุปกรณ์ป้องกันดวงตา (Eye protection)

เช่น แว่นตานิรภัย หรือแว่นครอบตานิรภัย PPE คืออุปกรณ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากสารเคมี รังสียูวี ลำแสงความเข้มสูง หรือเศษอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจกระเด็นเข้าดวงตาและก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ บริเวณเลนส์จะมีความหนา แข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก มีให้เลือกหลายชนิดขึ้นอยู่กับการใช้งาน แบ่งออกเป็น

  • แว่นตานิรภัย: มี 2 แบบ คือ แบบไม่มีกระบังข้าง สำหรับป้องกันเฉพาะบริเวณด้านหน้า และแบบมีกระบังข้าง สำหรับป้องกันเศษโลหะจากด้านข้าง

  • แว่นครอบตานิรภัย: แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ แว่นครอบตาป้องกันการกระแทก, แว่นครอบตาป้องกันสารเคมี และแว่นครอบตาป้องกันลำแสงจ้า

  1. อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ (Respiration protection)

เป็นอุปกรณ์ที่พบได้บ่อยทั้งในรูปแบบการใช้งานทั่วไปและการใช้งานในอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันเชื้อโรค ไอระเหยจากสารเคมี ฝุ่น ควัน ไม่ให้เข้าไปทำอันตรายกับระบบทางเดินหายใจ โดยอุปกรณ์ PPE ที่นิยมใช้ ได้แก่

  • หน้ากากอนามัย Medical Grade: สำหรับป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นเข้าจมูกและปาก

  • หน้ากาก N95: สำหรับป้องกันฝุ่นละอองและอนุภาคขนาดเล็ก เช่น เกสรดอกไม้ ควัน จุลินทรีย์

  • หน้ากากกรองอากาศ: สำหรับป้องกันไอระเหยจากสารเคมี โดยกรองผ่านตลับกรองบริเวณหน้ากาก

  • SCBA (Self Contained Breathing Apparatus): หรือ เครื่องช่วยหายใจชนิดมีถังอากาศติดตัว สำหรับใช้ในพื้นที่ที่มีอากาศน้อยหรือมีสารพิษอันตราย เช่น ควันไฟไหม้ ควันจากสารเคมีรุนแรง

  1. อุปกรณ์ป้องกันหู (Ear Protection)

การปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีระดับเสียงดังเกินกว่า 85 เดซิเบลเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประสาทหูและส่งผลต่อการได้ยินในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการใช้อุปกรณ์ PPE สำหรับป้องกันเสียงระหว่างปฏิบัติงาน โดยอุปกรณ์ที่นิยมใช้หลัก ๆ ได้แก่

  • ที่อุดหู: ใช้เพื่อสอดเข้าไปในรูหูเพื่อปิดกั้นเสียง โดยมากนิยมทำจากซิลิโคนหรือโฟม มีลักษณะเนื้ออ่อนนิ่ม สามารถแนบกระชับกับรูหูได้ดี แต่มีข้อจำกัดคือหากใช้เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบในรูหูได้

  • ที่ครอบหู: ใช้เพื่อปิดครอบหูส่วนนอกเพื่อลดเสียงรบกวน โดยมีให้เลือกใช้ทั้งแบบครอบศีรษะและติดกับหมวกนิรภัย ผลิตจากวัสดุที่ทนทาน เช่น สเตนเลสสตีล โพลียูรีเทน หรือ ABS และบุด้วยฟองน้ำที่นุ่มเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการสวมใส่ โดยทั่วไปแล้วจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงน้อยกว่าที่อุดหู

  1. อุปกรณ์ป้องกันมือ (Hand and Arm Protection)

มือและนิ้ว ถือเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการหยิบจับ ประคอง หรือรองรับสิ่งต่าง ๆ การทำงานในพื้นที่ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม จึงต้องมีอุปกรณ์ PPE อย่างถุงมือนิรภัย สำหรับป้องกันมือและนิ้วมือจากการกระแทก การบาดจากของมีคม และป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีหรือเชื้อโรค โดยถุงมือนิรภัยสามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  • ถุงมือกันบาด: ใช้สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับของมีคม เช่น งานตัด งานเลื่อย

  • ถุงมือกันสารเคมี: ใช้สำหรับงานที่มีการสัมผัสกับสารเคมีประเภทกรด ด่าง และน้ำมัน

  • ถุงมือสำหรับงานหนัก: ใช้สำหรับงานที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีน้ำหนักเยอะ เช่น งานยก เคลื่อนย้ายสินค้า งานชักรอก สลิง โซ่ เป็นต้น

  • ถุงมือเชื่อม: ใช้สำหรับงานเชื่อมหรืองานที่มีความร้อนสูง โดยถุงมือประเภทนี้จะนิยมทำจากหนังสัตว์ซึ่งทนความร้อนและสะเก็ดไฟได้ดี

  • ถุงมือใช้แล้วทิ้ง: ใช้สำหรับงานที่ปนเปื้อนกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำลาย หรืองานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตราย

  • ถุงมือกันไฟฟ้า: ใช้สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าแรงสูง โดยถุงมือประเภทนี้จะผลิตจากยางซึ่งเป็นฉนวนกันไฟฟ้าได้ดี

  • ถุงมือผ้า: ใช้สำหรับงานทั่วไป เช่น งานทำความสะอาด หรืองานซ่อมบำรุงที่มีความเสี่ยงต่ำ

  1. อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย (Full-body Protection)

หรือที่ใครหลายคนอาจเคยได้ยินในชื่อของ ชุด PPE เป็นอุปกรณ์สำหรับสวมใส่เพื่อป้องกันบริเวณช่วงลำตัวจากการปนเปื้อนหรือการบาดเจ็บต่าง ๆ โดยชุดประเภทที่นิยมใช้งานหลัก ๆ ได้แก่

  • ชุด PPE ทางการแพทย์: เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลหรืองานทางการแพทย์อื่น ๆ ผลิตจากพลาสติก PP และ PE ทำให้สามารถป้องกันของเหลวและสารคัดหลั่งได้ดี

  • ชุดป้องกันสารเคมี: เป็นชุดที่ใช้สำหรับป้องกันสารเคมีกัดกร่อน สารเคมีระเหย และก๊าซพิษต่าง ๆ มักทำจากวัสดุที่ทนทานต่อสารเคมี เช่น PVC, Neoprene หรือ Gore-Tex

  • ชุดป้องกันความร้อน: หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ชุดอลูมิไนซ์” เป็นชุดที่ใช้ในงานอุณหภูมิสูง โดยทำจากเส้นใยแข็งและเคลือบด้วยอะลูมิเนียม สามารถทนความร้อนได้สูงสุด 2,000°F

  1. อุปกรณ์ป้องกันเท้า (Foot Protection)

รองเท้าเซฟตี้เป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง เช่น สภาพแวดล้อมที่มีน้ำมัน หรือพื้นที่ก่อสร้าง โดยรองเท้าเซฟตี้จะช่วยป้องกันอันตรายต่อเท้าจากการถูกของหนักทับ การถูกวัตถุมีคมเจาะ และการลื่นล้ม โดยสามารถแบ่งออกตามลักษณะพื้นรองเท้าเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ  ดังนี้

  • ประเภทธรรมดา (Standard): ใช้สัญลักษณ์ S เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่มีการเสริมเหล็กบริเวณหัวเท้า ช่วยป้องกันการตกกระแทกของสิ่งของต่าง ๆ

  • ประเภทเสริมแผ่นป้องกันการแทงทะลุ (Penetration-resistant): ใช้สัญลักษณ์ P เป็นรองเท้าที่มีการเสริมแผ่นเหล็กบริเวณฝ่าเท้าเพื่อป้องกันวัตถุแหลมทิ่มทะลุ

  • ประเภทต้านไฟฟ้าสถิต (Antistatic): ใช้สัญลักษณ์ A เป็นรองเท้าสำหรับใช้ในงานด้านไฟฟ้าโดยเฉพาะ มีให้เลือกทั้งแบบต้านไฟฟ้าสถิตและไฟฟ้าแรงสูง

  • ประเภทเสริมแผ่นป้องกันการแทงทะลุและต้านไฟฟ้าสถิต: ใช้สัญลักษณ์ PA เป็นรองเท้าที่มีความปลอดภัยสูงสุดและครอบคลุมการใช้งานทุกประเภท

 

การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

เนื่องจาก PPE คืออุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัย การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยควรพิจารณาจากเกณฑ์เหล่านี้ ได้แก่

  • ประเมินความเสี่ยงของงาน

หากเป็นงานทั่วไป เช่น งานตรวจสอบ งานซ่อมบำรุง หรืองานอื่น ๆ ที่ไม่มีความอันตรายมากนัก อาจเลือกใช้อุปกรณ์ PPE มาตรฐาน เช่น หมวกนิรภัย รองเท้าเซฟตี้ แว่นตานิรภัย และถุงมือ เพื่อป้องกันอันตรายทั่วไป แต่หากเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น งานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี เชื้อโรค หรือความร้อนสูง ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่สามารถป้องกันได้มากขึ้น เช่น ชุดป้องกันสารเคมี หน้ากากป้องกันสารเคมี ถุงมือกันความร้อน และอุปกรณ์ป้องกันดวงตาชนิดพิเศษ

  • เลือกอุปกรณ์ PPE ที่ขนาดพอดี สวมใส่สบาย 

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า อุปกรณ์ PPE ยิ่งรัดแน่นหนา ยิ่งสามารถป้องกันอันตรายได้ดี ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป เนื่องจากการใส่อุปกรณ์ที่รัดแน่นจนเกินไปอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดแผลกดทับได้ นอกจากนี้ หากสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ เช่น หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากกันแก๊สที่แน่นเกินไป อาจทำให้หายใจลำบากและเกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

  • ใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ผ่านมาตรฐาน

ควรเลือกอุปกรณ์ PPE จากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล เช่น ANSI, EN หรือมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และควรผ่านการทดสอบเพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันแรงกระแทก เศษวัสดุ หรือสิ่งอันตรายต่าง ๆ

 

มาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในประเทศไทย

ในประเทศไทย มีประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554 โดยมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ได้แก่ 

  • มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Thai Industrial Standards : TIS)

  • มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization : ISO) 

  • มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards : EN) 

  • มาตรฐานประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards : AS/NZS) 

  • มาตรฐานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI)

  • มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards : JIS) 

  • มาตรฐานสถาบันความปลอดภัยและอนามัยในการทำงานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health : NIOSH) 

  • มาตรฐานสำนักงานบริหารความปลอดภัย และอาชีวอนามัยแห่งชาติกรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration : OSHA)

  • มาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association : NFPA)

 

ดังนั้น การเลือกใช้อุปกรณ์ PPE ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการทดสอบและรับรองคุณภาพ คือสิ่งที่ผู้ใช้งานควรคำนึงเพื่อป้องกันร่างกายจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในการปฏิบัติงานด้านไฟฟ้าซึ่งมีความเสี่ยงและอันตรายสูง

 

ซึ่งนอกจากการป้องกันส่วนบุคคลแล้ว การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างตู้ไฟและรางสายไฟจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน เลือกใช้วัสดุที่แข็งแรง ทนทาน และผลิตด้วยขั้นตอนที่ทันสมัย จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยสำหรับการปฏิบัติงานด้านไฟฟ้าในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

 

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น

สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 

LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo

Facebook: facebook.com/KJLElectric