ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลายชนิด มักมีการใช้สารเคมีบางประเภทเพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน เช่น สารหน่วงไฟและสารป้องกันสนิม อย่างไรก็ตาม สารเคมีบางชนิด เช่น ฮาโลเจน ซึ่งมีราคาถูกและให้ประสิทธิภาพดี ก็ยังคงถูกใช้งานในบางอุตสาหกรรม แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้งานก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้งานที่กังวลเกี่ยวกับอันตรายจากสารฮาโลเจนจึงหันมาเลือกใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน Halogen Free เพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ในบทความนี้ เราจะพามาทำความรู้จักกับสาร Halogen ในแง่ของคุณสมบัติและอันตรายต่าง ๆ พร้อมทั้งเจาะลึกว่ามาตรฐานฮาโลเจนฟรีคืออะไร และเหตุใดผู้ใช้งานจึงควรให้ความสำคัญ
Halogen Free คือมาตรฐานในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นการลดปริมาณสารประกอบฮาโลเจน ซึ่งอาจเกิดอันตรายเมื่อถูกเผาไหม้หรือหลอมละลาย มาตรฐานนี้อ้างอิงจากข้อกำหนดของ IEC (International Electrotechnical Commission) ซึ่งกำหนดว่าเรซินที่มีสารประกอบฮาโลเจนรวมกับวัสดุเสริมแรงต้องมีปริมาณไม่เกิน 1,500 ppm โดยที่คลอรีนต้องไม่เกิน 900 ppm และโบรมีนต้องไม่เกิน 900 ppm
มาตรฐาน Halogen Free กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ต้องการตอบสนองต่อผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงได้มีการออกฉลากเขียว (Ecolabel) ให้กับสินค้าที่ผ่านมาตรฐานนี้ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในด้านความยั่งยืน
ธาตุฮาโลเจน (Halogen) คือกลุ่มธาตุในหมู่ที่ 7 ของตารางธาตุ ซึ่งประกอบด้วย ฟลูออรีน (Fluorine) คลอรีน (Chlorine) โบรมีน (Bromine) ไอโอดีน (Iodine) และแอสทาทีน (Astatine) โดยคำว่าฮาโลเจนมาจากคำว่า Halo ที่แปลว่าเกลือ และ Gen ที่แปลว่าสร้าง ในภาษากรีก เนื่องจากธาตุในกลุ่มนี้เมื่อทำปฏิกิริยากับธาตุโลหะจะเกิดเกลือฮาไลด์
ธาตุฮาโลเจนมีคุณสมบัติพิเศษคือมีความไวต่อปฏิกิริยาเคมีเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่ค่อยพบในรูปแบบธาตุบริสุทธิ์ในธรรมชาติ แต่จะพบมากในรูปเกลือโลหะหรือสารประกอบฮาไลด์ นอกจากนี้ ธาตุฮาโลเจนบริสุทธิ์เกือบทุกชนิดยังมีความเป็นพิษสูง ทำให้เป็นอันตรายเมื่อสูดดมหรือสัมผัส
สารฮาโลคาร์บอน คือ สารประกอบอินทรีย์ที่มีอะตอมของคาร์บอน (Carbon) เชื่อมต่อกับอะตอมของฮาโลเจน (Halogen) อย่างน้อยหนึ่งอะตอม โดยสารในกลุ่มนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทำให้ปัจจุบันสารกลุ่มฮาโลคาร์บอนบางชนิด เช่น PCB (Polychlorinated Biphenyl), PBB (Polybrominated Biphenyl), PBDE (Polybrominated Diphenyl Ethers), DDT (Dichloro-Diphenyl-Trichloroethane) และ CFC (Chlorofluorocarbon) ถูกออกกฎหมายห้ามใช้ในการผลิตวัสดุหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว
ธาตุฮาโลเจน เช่น ฟลูออรีน คลอรีน และโบรมีน เป็นธาตุที่ว่องไวต่อปฏิกิริยาเคมีสูง เมื่อสัมผัสกับสารอื่นๆ หรืออยู่ในรูปของก๊าซหรือไอระเหย จะทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อในร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น การระคายเคืองเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจ อาการไอ หายใจติดขัด ปอดบวม และในกรณีที่รุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ การสัมผัสกับผิวหนังยังทำให้เกิดการไหม้และแผลพุพอง และการสูดไอระเหยของสารฮาโลเจนยังสามารถทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการมึนงง คลื่นไส้ และอาเจียน
การเลือกใช้อุปกรณ์หรือสินค้าที่เป็น Halogen Free โดยเฉพาะประเภทสายไฟฟ้า รางเดินสายไฟ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันได้ เพราะระบบไฟฟ้าเป็นระบบที่มีความเสี่ยงสูง และหลายครั้งความเสียหายที่รุนแรงมักเกิดจากการลุกลามของไฟฟ้าหรือควันพิษจากฉนวนสายไฟ
สาย LSHF ย่อมาจาก Low Smoke Halogen Free เป็นสายไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับการติดตั้งในพื้นที่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง อาทิ สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า โรงพยาบาล ภายในอุโมงค์ หรือโรงงานที่มีการใช้สารเคมีและความร้อนสูง ประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้
เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ สายไฟ LSHF จะปล่อยควันออกมาในปริมาณที่น้อยกว่าสายไฟทั่วไป ทำให้การมองเห็นภายในอาคารยังคงดีอยู่ ช่วยอำนวยความสะดวกในการอพยพและการดับเพลิง
สารฮาโลเจน เช่น คลอรีน เมื่อถูกเผาไหม้จะปล่อยก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและกัดกร่อนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สายไฟ LSHF จึงไม่มีส่วนประกอบของสารเหล่านี้ ทำให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากกว่า
สายไฟ LSHF ยังมีคุณสมบัติหน่วงไฟ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ไฟจะไม่ลุกลามอย่างรวดเร็ว ช่วยจำกัดพื้นที่เพลิงไหม้ไม่ให้ขยายวงกว้างจนเป็นอันตรายรุนแรง
ผลิตภัณฑ์ Halogen Free คืออีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการติดตั้งระบบไฟฟ้าหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะช่วยลดความเสี่ยงเมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ เนื่องจากผลิตควันน้อยกว่า และไม่ลามไฟ จึงเหมาะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมหรือพื้นที่สาธารณะที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยสูง ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ Halogen Free มีให้เลือกหลายชนิด เช่น ทั้งสายไฟฟ้า รางวายเวย์สำหรับเก็บสายไฟ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น
นอกเหนือจากมาตรฐาน Halogen Free แล้ว การเลือกติดตั้งอุปกรณ์ เช่น ตู้ไฟ ราง Wireway หรือ Cable Tray สำหรับเดินสายไฟให้ปลอดภัย ยังจำเป็นต้องพิจารณามาตรฐานอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ มาตรฐาน RoHS หรือการจำกัดการใช้สารอันตรายในอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, มาตรฐานการผลิต ISO 9001:2015 เพื่อรับประกันคุณภาพในการดำเนินงาน, มาตรฐาน มอก. สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรม และมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้ามีคุณภาพ แข็งแรง ทนทาน และสร้างความปลอดภัยในการใช้งานระยะยาว
KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น
สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่
LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo
Facebook: facebook.com/KJLElectric