สายดิน คืออะไร พร้อมเรียนรู้มาตรฐานการติดตั้ง

2024 - 06 - 04

ภาพเปิดบทความเรื่อง สายดิน คืออะไร
ในปัจจุบัน "สายดิน" ถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ไฟฟ้าสำคัญที่ช่วยเสริมความปลอดภัยในการใช้งาน โดยเราจะพบสายดินติดตั้งอยู่กับเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน รวมถึงภายในระบบไฟฟ้าในบ้านยุคปัจจุบัน ที่สังเกตได้จากเต้ารับแบบสามตา ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงกันว่า สายดิน คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร รวมถึงข้อกำหนดและมาตรฐานในการติดตั้งที่ช่างไฟควรรู้

 

สายดิน คืออะไร

สายดิน (Earthing System/Grounding System) เป็นตัวนำหรือสายไฟที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำหน้าที่นำทางกระแสไฟฟ้าที่รั่วให้ไหลลงไปสู่พื้นดิน หรือนำทางกลับไปยังระบบตัดไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ใช้งานที่สัมผัสกระแสไฟฟ้ารั่วโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

สายดินสำคัญอย่างไร ในระบบไฟฟ้า

สายดินเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความปลอดภัยมากขึ้น โดยมีความสำคัญต่อระบบไฟฟ้า ดังนี้

  • เมื่อเกิดไฟรั่ว กระแสไฟฟ้าจะไหลจากสายดินลงสู่พื้นดิน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากไฟฟ้าช็อต
  • ช่วยถ่ายเทประจุไฟฟ้าสถิตออกจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ลดความเสี่ยงในการเกิดประกายไฟและเพลิงไหม้
  • ช่วยรักษาแรงดันไฟฟ้าให้คงที่ และป้องกันไฟกระชากจากไฟฟ้าที่อยู่ในระบบมากเกินไป
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ยาวนานขึ้น

ระบบสายดิน มีอะไรบ้าง

ในระบบสายดินจะมีองค์ประกอบหลัก ๆ อยู่ 2 ส่วน ดังนี้

1. ตัวนำไฟฟ้า (Grounding Wire)

ตัวนำไฟฟ้า หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "สายดิน" เป็นสายไฟฟ้าประเภทตัวนำทองแดง หุ้มด้วยฉนวนและเปลือก PVC มีลักษณะใกล้เคียงกับสายไฟฟ้าทั่วไป โดยทั่วไปจะใช้สีของเปลือกสายไฟฟ้าเป็นสีเขียวแถบเหลือง ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก และในการติดตั้งจะต้องใช้เส้นเดียวยาวตลอดแนว ไม่มีการตัดหรือต่อสายไฟ โดยสายดินสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

  • สายดินที่ใช้ในวงจรย่อย

    เป็นสายดินสำหรับต่อกับเต้ารับหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 2.5 ตร.มม. สำหรับใช้กับเครื่องป้องกันกระแสเกินพิกัดไม่เกิน 20 แอมแปร์ และมีขนาดไม่ต่ำกว่า 4 ตร.มม. สำหรับใช้กับเครื่องป้องกันกระแสเกินพิกัดไม่เกิน 40 แอมแปร์
  • สายดินสำหรับต่อกับหลักดิน

    เป็นสายขนาดใหญ่ที่รวมสายดินจากวงจรย่อยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ตร.มม. และควรเดินสายผ่านท่อ

2. หลักดิน (Ground Rod)

เป็นแท่งโลหะที่ทำหน้าที่รับกระแสไฟฟ้ารั่วและถ่ายเทประจุไฟฟ้าลงสู่พื้นดิน โดยส่วนใหญ่จะใช้วัสดุเป็นเหล็กหุ้มทองแดง ทองแดง หรือเหล็กอาบสังกะสี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 16 มม. (5/8 นิ้ว) มีความยาวไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และมีค่าความต้านทานเมื่อตอกลงดินไม่เกิน 5 โอห์ม

 

เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดไหนบ้างที่ต้องมีสายดิน

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องมีสายดิน คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีตัวเครื่องเป็นโลหะ และผู้ใช้งานอาจสัมผัสโดยตรงขณะใช้งาน เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า ไมโครเวฟ เตารีด ฯลฯ โดยเราจะเรียกเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ว่า “เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1”

ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นต้องมีสายดิน ได้แก่ “เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2” คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉนวนห่อหุ้มมิดชิด เช่น พัดลม โทรทัศน์ วิทยุ แต่ควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และ "เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3" คือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้กับแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 50 V จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เช่น โทรศัพท์ เครื่องโกนหนวด เป็นต้น

 

มาตรฐานการติดตั้งสายดิน คืออะไร และมีอะไรบ้าง

การไฟฟ้านครหลวง ได้ระบุรายละเอียดและมาตรฐานในการติดตั้งสายดินไว้ดังนี้

  1. จุดต่อลงดิน: ต้องอยู่ด้านไฟเข้าของเครื่องตัดวงจรตัวแรกในตู้เมนสวิตช์ และภายในอาคารเดียวกันไม่ควรมีจุดต่อลงดินเกิน 1 จุด
  2. สายดินและสายนิวทรัล: สามารถต่อร่วมกันได้ที่จุดต่อลงดินภายในตู้เมนสวิตช์หลักเท่านั้น และห้ามต่อร่วมกันในตู้เมนสวิตช์ย่อย
  3. โครงโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้า: ห้ามต่อลงดินโดยตรง หรือหากมีการติดตั้งไปแล้วให้ทำการแก้ไขโดยต่อลงดินที่ตู้เมนสวิตช์อย่างถูกต้อง
  4. เซอร์กิตเบรกเกอร์: ไม่ควรใช้ชนิด 120/240 V กับระบบไฟ 220 V เพราะจะทำให้พิกัดการตัดกระแสลัดวงจร (IC) ลดลงกึ่งหนึ่ง
  5. เครื่องตัดไฟรั่ว: ควรติดตั้งเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกรณีมีน้ำท่วมขัง หรือสายดินขาด ที่ทำให้ระบบสายดินทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยจุดต่อลงดินต้องอยู่ด้านไฟเข้าของเครื่องตัดไฟรั่วเสมอ หรือถ้าตู้เมนสวิตช์นั้นไม่มีขั้วต่อสายดินและสายนิวทรัลแยก เครื่องตัดไฟรั่วจะต่อใช้ได้เฉพาะวงจรย่อยเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันทั้งระบบได้
  6. กระแสไฟฟ้า: โดยปกติ วงจรสายดินที่ติดตั้งอย่างถูกต้องจะไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน
  7. การเดินสายไฟ: หากมีการเดินสายไฟในท่อโลหะ ก็จำเป็นต้องเดินสายดินในท่อโลหะนั้นด้วย
  8. โคมไฟฟ้าและอุปกรณ์ติดตั้งที่เป็นโลหะ: ควรต่อลงดิน หรือติดตั้งให้พ้นระยะที่สัมผัสได้ (ความสูงไม่ต่ำกว่า 2.4 เมตร หรือห่างไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ในแนวราบ)
  9. ขนาดและชนิดของอุปกรณ์ในระบบสายดิน: ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวง

สายดิน จึงเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยสร้างความปลอดภัย และลดความเสี่ยงต่ออันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติภายในระบบไฟฟ้า ดังนั้น ช่างไฟจึงควรศึกษาความสำคัญว่า สายดิน คืออะไร ข้อกำหนดของอุปกรณ์ที่ใช้มีอะไรบ้าง รวมถึงมาตรฐานการติดตั้งอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และเมื่อเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานต่าง ๆ ในการติดตั้งระบบสายดินแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการควบคุมการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ด้วยตู้ไฟ และรางเดินสายไฟ ที่ผลิตด้วยวัสดุคุณภาพ แข็งแรง กันฝุ่น กันน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟรั่ว หรือไฟฟ้าลัดวงจร และเพิ่มความปลอดภัยให้กับทุกการใช้งานไฟฟ้า

 

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 
LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo
Facebook: facebook.com/KJLElectric