วัตถุไวไฟ คืออะไร มีอะไรบ้างที่ควรระวัง พร้อมคุณสมบัติ

2025 - 01 - 07

ภาพปกบทความวัตถุไวไฟ คืออะไร

สำหรับบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการใช้งานอุปกรณ์และเครื่องจักรราคาแพง หนึ่งในอุบัติเหตุที่ร้ายแรงและสร้างความเสียหายได้มากที่สุดคือ "อัคคีภัย" ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากในพื้นที่นั้นมีวัตถุไวไฟที่เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ยิ่งเพิ่มความรุนแรงและการลุกลามของไฟให้รวดเร็วขึ้น การเข้าใจลักษณะและคุณสมบัติของวัตถุไวไฟจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราสามารถจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปเจาะลึกว่า วัตถุไวไฟ มีอะไรบ้าง คุณสมบัติที่ควรรู้ และวิธีป้องกันเพื่อลดโอกาสการเกิดอัคคีภัยที่มีความรุนแรงจากวัตถุติดไฟเหล่านี้

 

วัตถุไวไฟ คืออะไร?

วัตถุไวไฟ คือวัตถุหรือสารที่สามารถลุกติดไฟได้ง่ายเมื่อได้รับความร้อนหรือประกายไฟ โดยการพิจารณาว่าวัตถุไวไฟ มีอะไรบ้าง สามารถจำแนกได้ 2 กรณี คือ วัตถุไวไฟนั้น อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หรือหากสารนั้นๆ มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส ก็จัดเป็นสารไวไฟเช่นกัน

 

คุณสมบัติของวัตถุไวไฟ

แม้ว่าวัตถุไวไฟหลายชนิดจะมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้

  • จุดวาบไฟ

ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552 ได้กำหนดให้สารเหลวที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส จัดเป็นของเหลวไวไฟ ซึ่งหมายความว่าที่อุณหภูมิดังกล่าว วัตถุดังกล่าวจะระเหยเป็นไอจนมีความเข้มข้นเพียงพอในอากาศที่จะติดไฟได้เมื่อสัมผัสกับแหล่งจุดประกายไฟ

  • อุณหภูมิที่ติดไฟเองได้

อุณหภูมิที่ติดไฟเองได้ คือ อุณหภูมิต่ำสุดที่สารเคมีสามารถติดไฟได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีแหล่งจุดติดไฟภายนอก เช่น เปลวไฟ หรือประกายไฟ วัตถุไวไฟบางชนิด เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และอะลูมิเนียมผง มีอุณหภูมิติดไฟเองได้ต่ำ ซึ่งหมายความว่าเมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม สารเหล่านี้สามารถติดไฟได้เองโดยไม่ต้องได้รับความร้อนจากภายนอกมากนัก

  • ขอบเขตของการติดไฟ

ขอบเขตของการติดไฟ หมายถึง ช่วงความเข้มข้นของสารไวไฟในอากาศที่สามารถเกิดการเผาไหม้หรือระเบิดได้ หากความเข้มข้นของสารไวไฟต่ำกว่าหรือสูงกว่าช่วงนี้ การเผาไหม้จะไม่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ก๊าซมีเทนมีค่าต่ำสุดของการติดไฟ (LEL) ที่ 5% และค่าสูงสุดของการติดไฟ (UEL) ที่ 15% หมายความว่า หากมีก๊าซมีเทนผสมอยู่ในอากาศตั้งแต่ 5% ถึง 15% โดยปริมาตร และมีประกายไฟเกิดขึ้น จะเกิดการเผาไหม้หรือระเบิดได้ แต่ถ้ามีปริมาณน้อยกว่า 5% หรือมากกว่า 15% แม้มีประกายไฟก็จะไม่เกิดการเผาไหม้

 

ประเภทของวัตถุไวไฟ มีอะไรบ้าง

หลายคนมักเข้าใจว่าวัตถุไวไฟจำกัดแค่ในรูปของน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว คำว่า “วัตถุไวไฟ” นั้นครอบคลุมถึงสสารทุกประเภทที่ติดไฟได้ง่าย โดยประเภทหลัก ๆ ของวัตถุไวไฟ ได้แก่

  1. ของแข็งไวไฟ

ของแข็งไวไฟ หมายถึง วัสดุที่เป็นของแข็งซึ่งสามารถติดไฟได้ง่ายเมื่อได้รับความร้อนหรือประกายไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในรูปของอนุภาคขนาดเล็ก เช่น ฝุ่นละออง ฝ้าย แป้ง ขี้เลื่อย หรือผงโลหะ นอกจากนี้ ของแข็งไวไฟบางชนิด เช่น กำมะถัน ฟอสฟอรัส ยังสามารถลุกไหม้ได้เองเมื่อสัมผัสกับอากาศ หรือเมื่อถูกความร้อน

  1. ของเหลว

ของเหลวไวไฟ คือสารเหลวที่สามารถระเหยในอุณหภูมิห้อง เมื่อไอของสารระเหยผสมกับอากาศในสัดส่วนที่เหมาะสม และสัมผัสกับแหล่งความร้อนหรือเปลวไฟ จะทำให้เกิดการลุกไหม้ได้ โดยของเหลวที่เป็นวัตถุไวไฟ ได้แก่ น้ำมัน ทินเนอร์ และเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับกระบวนการทำให้เกิดความร้อนและเปลวไฟ เช่น เอธิลแอลกอฮอล์

  1. ก๊าซ

ก๊าซไวไฟ เป็นก๊าซที่เบากว่าอากาศ และสามารถติดไฟได้ง่ายเมื่อผสมกับอากาศในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยตัวอย่างก๊าซไวไฟที่นิยมใช้งานในอุตสาหกรรม ได้แก่ ก๊าซ LPG หรือก๊าซหุงต้ม, ก๊าซอะเซทิลีน ที่ใช้ในงานตัดหรือเชื่อม เป็นต้น

  1. ละออง

ละอองไวไฟ เป็นสารไวไฟที่เกิดจากการผสานระหว่างของเหลวและก๊าซไวไฟ ซึ่งมีลักษณะคือ เมื่อละอองลอยอยู่ในอากาศและสัมผัสกับประกายไฟหรือความร้อน จะทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วในอากาศที่มีละอองลอยอยู่ ตัวอย่างสารละอองไวไฟที่พบได้บ่อย เช่น สเปรย์ในกระป๋องอัดแก๊ส ละอองสี ละอองยาฆ่าแมลง ละอองน้ำหอม หรือละอองที่เกิดจากการสั่นสะเทือนอัลตราโซนิก เป็นต้น

ละอองสเปรย์ หนึ่งในวัตถุไวไฟที่พบได้บ่อย

 

10 วัตถุไวไฟในบ้านที่ต้องระมัดระวัง

เหตุอัคคีภัยหลายครั้งมักมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งวัตถุไวไฟ คือหนึ่งในสาเหตุหลัก เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว และวัตถุติดไฟเหล่านี้มักเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่เราอาจละเลย ดังนั้น ผู้ใช้งานควรระมัดระวังการใช้งานวัตถุเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น

 

  • สีน้ำมัน 

สีน้ำมันเป็นสีที่ได้รับความนิยมสำหรับการทาผนังตกแต่ง เนื่องจากมีความทนทานและทำความสะอาดได้ง่าย อย่างไรก็ตาม สีน้ำมันมีส่วนผสมของทินเนอร์ซึ่งเป็นสารไวไฟ และมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ทำให้สีน้ำมันมีความเสี่ยงที่จะติดไฟได้หากมีแหล่งจุดระเบิด เช่น เปลวไฟหรือประกายไฟ

  • เชื้อเพลิงสำหรับการทำอาหาร

การทำอาหารเป็นสิ่งที่ทุกบ้านต้องทำ จึงมักมีการใช้เตาแก๊สเป็นแหล่งเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เหตุไฟไหม้หลายครั้งมักเกิดจากการรั่วของท่อก๊าซหุงต้มและการจุดประกายไฟ ดังนั้น ควรตรวจสอบถังแก๊สและอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อหาจุดผิดปกติและป้องกันอันตราย

  • ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม

สเปรย์จัดแต่งทรงผมมักมีส่วนผสมของสารที่ติดไฟได้ง่ายหลายชนิด รวมถึงการบรรจุแก๊สภายในกระป๋องเพื่อให้สามารถพ่นสารออกมาเป็นละอองขนาดเล็กได้ องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ขวดสเปรย์เป็นวัตถุติดไฟง่าย ซึ่งอาจระเบิดหรือก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้หากสัมผัสกับความร้อนหรือประกายไฟ

  • ไม้และพลาสติก

ภายในบ้านเรือนส่วนใหญ่มักมีเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้หรือพลาสติกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงให้กับไฟได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงควรจัดเฟอร์นิเจอร์ให้ห่างจากจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเปลวไฟหรือเพลิงไหม้

  • น้ำมันที่ใช้สำหรับทำอาหาร

แม้ว่าน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำข้าว และน้ำมันถั่วเหลือง จะมีจุดเดือดที่ค่อนข้างสูง (220°C ขึ้นไป) แต่หากปล่อยเตาทิ้งไว้นาน ความร้อนที่สูงเกินไปอาจทำให้น้ำมันซึ่งเป็นวัตถุไวไฟเกิดการลุกไหม้ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอัคคีภัยได้

  • กระดาษและเอกสาร

การเก็บวัสดุประเภทกระดาษ เช่น หนังสือพิมพ์ กล่องกระดาษ หรือเอกสารเก่าไว้ในจุดเดียวกัน อาจกลายเป็นแหล่งเชื้อเพลิงชั้นดีในกรณีเกิดเพลิงไหม้ เนื่องจากกระดาษติดไฟง่ายและลุกลามได้อย่างรวดเร็ว

  • บุหรี่

หนึ่งในสาเหตุของเพลิงไหม้ที่พบบ่อยคือก้นบุหรี่ที่ยังดับไม่สนิท เนื่องจากก้นบุหรี่มีน้ำหนักเบาและสามารถปลิวไปตามลมได้ง่าย จึงอาจสัมผัสกับสารไวไฟ เช่น น้ำมันหรือก๊าซเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถนำไปสู่การลุกไหม้หรือการระเบิดได้ในบางกรณี

  • ผ้าม่าน

ผ้าม่านในบ้านส่วนใหญ่ผลิตจากผ้าที่มีการถักทออย่างหนาเพื่อช่วยลดการผ่านของแสงแดดและป้องกันรังสียูวี โดยเฉพาะผ้าม่านที่ผลิตจากใยสังเคราะห์ เช่น ไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียวและทนทาน อย่างไรก็ตาม ใยสังเคราะห์เหล่านี้อาจติดไฟและลุกลามได้ง่ายในกรณีที่สัมผัสกับเปลวไฟโดยตรง

  • พรมปูพื้น

พรมปูพื้นภายในบ้านส่วนใหญ่มักผลิตจากวัสดุที่มีความหนาและนุ่ม เช่น ขนสัตว์หรือใยสังเคราะห์ต่าง ๆ ซึ่งวัสดุเหล่านี้มีความไวต่อการติดไฟ หากมีเปลวไฟหรือแหล่งกำเนิดความร้อนอยู่ใกล้ ๆ ก็อาจติดไฟและลุกลามได้ง่าย

  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ชิ้นส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก ที่ติดไฟได้ง่าย รวมถึงภายในยังมีแผงวงจร ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เป็นโลหะที่เกิดความร้อนและประกายไฟได้ง่าย หลายครั้งเหตุเพลิงไหม้จึงมักเกิดจากระบบไฟฟ้าลัดวงจรที่เกิดจากความร้อนและการเสียหายของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากวัตถุไวไฟ มีอะไรบ้าง

ของแข็ง: ของแข็งไวไฟสามารถจุดติดไฟได้ง่าย ทั้งการสัมผัสประกายไฟโดยตรงหรือไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นในอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดการเผาไหม้หรือระเบิดได้ นอกจากนี้ การเผาไหม้ของวัตถุติดไฟ คือต้นเหตุของการปล่อยก๊าซพิษ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไดออกซิน และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ของเหลว: ของเหลวไวไฟจะระเหยในอุณหภูมิห้อง ทำให้เกิดไอระเหยภายในอากาศและเมื่อสัมผัสกับความร้อนจะทำให้เกิดการเผาไหม้ได้ หรือในบางครั้งหากมีของเหลวรั่วไหลไปจนถึงแหล่งความร้อน เปลวไฟจะลุกลามกลับไปยังแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว และอาจขยายพื้นที่เพลิงไหม้ให้เป็นวงกว้างขึ้นจนเกิดอันตรายรุนแรง

ก๊าซ: ก๊าซไวไฟมักบรรจุในกระป๋องอัดแรงดันสูงหรือถังโลหะที่มีความดันสูง หากเกิดการรั่วไหลของก๊าซและสัมผัสกับประกายไฟ อาจทำให้เกิดการระเบิดรุนแรงได้ อีกทั้งในกลุ่มก๊าซอะเซทิลีน ซึ่งเป็นวัตถุไวไฟสำหรับงานตัด หากระบบจ่ายแก๊สไม่มีการติดตั้งวาล์วและอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ เมื่อจุดระเบิดอาจทำให้เกิดแก๊สย้อนกลับในระบบจนทำให้ถังแก๊สระเบิดได้เช่นกัน

ละออง: เมื่อละอองในอากาศสัมผัสกับประกายไฟ จะเกิดการเผาไหม้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจนำไปสู่การลุกไหม้รุนแรงขึ้น หากมีเชื้อเพลิงเพิ่มเติมหรืออยู่ในภาชนะปิดที่มีความดันสูง การเผาไหม้ภายในอาจทำให้แรงดันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจเกิดการระเบิดได้

 

จะเห็นได้ว่า วัตถุไวไฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา การเรียนรู้และป้องกันอันตรายจากการใช้งานสารเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของระบบไฟฟ้าซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอัคคีภัยจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือความร้อนของสายไฟ การติดตั้งรางวายเวย์ และ Cable Tray ไม่เพียงแต่ช่วยให้สายไฟดูเป็นระเบียบสวยงาม แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากไฟฟ้าลัดวงจรที่อาจเกิดจากสายไฟสัมผัสกัน หรือจากความร้อนสะสมในบริเวณที่สายไฟแออัด 

 

นอกจากนี้ การเลือกรางวายเวย์ และ Cable Tray ที่ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ เคลือบผิวด้วยเทคโนโลยีพ่นสีฝุ่น Electrostatic Powder Coatings จะทำให้ได้ชิ้นงานที่ทนทาน ไม่เป็นสนิม และไม่ลามไฟได้ง่าย เพราะไม่มีสารระเหยหรือสาร VOCs ที่เป็นวัตถุไวไฟ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับการติดตั้งระบบไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

 

 

KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น

สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 

LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo

Facebook: facebook.com/KJLElectric