ข้อกำหนดมาตรฐานการติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วที่ช่างไฟต้องรู้

2023 - 10 - 12

การติดตั้งเครื่องไฟรั่ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ

ในช่วงเวลาเดือนตุลาคมของทุกปี ประเทศไทยจะมีพายุและมรสุมพัดผ่านทำให้เกิดฝนตกโดยทั่วไปในแทบทุกพื้นที่ของประเทศ บางพื้นที่อาจเกิดน้ำท่วม น้ำขัง และน้ำรอระบาย ผู้เขียนจึงขอโอกาสนี้เขียนบทความเกี่ยวกับ ข้อกำหนดการติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RCD เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงช่างไฟและวิศวกรไฟฟ้าสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อป้องกันหรือลดอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด อันจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า

 

มาตรฐานการติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วประจำปี พ.ศ. 2564

มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ หรือ วสท. 022001-22 ระบุข้อแนะนำการใช้งานเครื่องตัดไฟรั่ว RCD) ที่ถูกต้องโดยเฉพาะข้อกำหนดการติดตั้ง (ข้อ ฒ.2.4 การติดตั้ง) โดยมีหัวข้อที่สำคัญได้แก่

 

1. เลือกติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วในสถานที่ที่เหมาะสม

เพื่อไม่ให้เครื่องตัดไฟรั่วทำงานหรือมีการตัดบ่อยที่ไม่พึงประสงค์ ให้หลีกเลี่ยงการติดตั้ง RCD ในสถานที่อุณหภูมิสูงเกิน 40˚C หรือถูกแสงแดด สถานที่มีฝุ่น สถานที่มีไอเกลือจากทะเล, อากาศที่กัดกร่อนจากสารเคมี หรือที่มีความชื้นสูง สถานที่มีสนามแม่เหล็กสูง และสถานที่เกษตรกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเหนี่ยวนำจากคลื่นฟ้าผ่า ทั้งนี้หากจำเป็นต้องติดตั้ง RCD ในสถานที่ดังกล่าวแนะนำให้ปรึกษากับผู้ผลิตโดยอาจต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริมหรือประกอบเพิ่มเติมได้แก่ การใช้กล่องครอบป้องกัน การถ่ายเทอากาศเพื่อป้องกันความชื้น รวมทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเสิร์จ (SPD) เป็นต้น

 

2. ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วให้ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

ตำแหน่งการติดตั้ง RCD มีได้หลายรูปแบบในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น 

  • ติดตั้งเฉพาะจุดที่ใช้งาน ได้แก่ ในเต้ารับ เต้าเสียบ รวมทั้งจุดต่อไฟเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่น ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องทำน้ำอุ่น และเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

  • ติดตั้งในแผงเมนสวิตช์ หรือแผงสวิตช์ย่อย อาจติดตั้งที่ทางเข้าตัวเดียว หรือมีการแบ่งการป้องกันออกเป็นกลุ่มแบบ Split bus 

 

3. ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม 

ตู้แผงสวิตช์ โดยเฉพาะตู้แผงเมนสวิตช์ ควรติดตั้งอยู่ในระดับที่อยู่พ้นจากระดับที่น้ำจะท่วมถึง เพื่อให้สามารถควบคุมตัดวงจรที่ถูกน้ำท่วมออกได้ และต้องมี RCD ที่สามารถตัดวงจรการจ่ายไฟของพื้นที่ที่หากเกิดเหตุน้ำท่วมพื้นที่นั้นทั้งหมดได้โดยอัตโนมัติ 

 

4. เครื่องตัดไฟรั่วต้องอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงง่าย

ตู้แผงสวิตช์ที่มีการติดตั้ง RCD ควรอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้สะดวกต่อการกดปุ่มเพื่อทดสอบการทำงานของ RCD เป็นระยะ ๆ

 

5. สายวงจรต้องเป็นอิสระจากกัน

สายนิวทรัล (สีฟ้า) และสายดิน PE (สีเขียว หรือสีเขียวสลับเหลือง) ของแต่ละวงจรทุกวงจร ไม่ว่าจะเป็นวงจรที่มี RCD หรือไม่ จะต้องเป็นอิสระจากกัน ไม่มีการต่อหรือแตะถึงกัน รวมทั้งห้ามต่อสลับกัน

 

6. บ้านทั่วไปที่มีหลักดินต้องต่อวงจรให้ถูกต้อง 

สำหรับบ้านโดยทั่วไปที่ต้องมีหลักดินของตนเอง (ระบบ TN-C-S) สายนิวทรัล (สีฟ้า) และสายดิน PE (สีเขียว หรือสีเขียวสลับเหลือง) จะต้องมีการต่อถึงกัน และต่อถึงกันได้เพียงจุดเดียวเท่านั้นเฉพาะทางด้านก่อนเข้าเมนสวิตช์ และต้องต่อลงดินเข้ากับหลักดินด้วย

 

7. บ้านที่เป็นห้องชุดของอาคารชุดห้ามต่อวงจรถึงกัน 

สำหรับบ้านที่เป็นห้องชุดของอาคารชุด (ไม่ต้องมีหลักดินของตนเอง ซึ่งเป็นระบบ TN-S) ห้ามต่อสายนิวทรัล (สีฟ้า) และสายดิน PE (สีเขียว หรือสีเขียวสลับเหลือง) เข้าด้วยกันไม่ว่าตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้น

 

8. ต้องต่อสายไฟเข้าเครื่องตัดไฟรั่วให้ถูกขั้วเสมอ

การต่อและเข้าสาย RCD ต้องต่อให้ถูกขั้วที่มีการระบุ และไม่กลับด้านไฟเข้า-ออก ทั้งนี้ช่างไฟฟ้าต้องเข้าสายตามเครื่องหมายที่ปรากฏ หรือตามคำแนะนำของผู้ผลิต เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถป้องกันและลดอันตรายจารการถูกไฟดูด เครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RCD ที่ติดตั้งและใช้งานต้องเป็นอุปกรณ์ที่ได้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. เช่นกัน ตัวอย่างเช่น 

  • RCCB (มอก.2425), RCBO (มอก. 909) และสำหรับ RCCB, RCBO type F, B (มอก.2955)

  • SRCD, SRCBO (มอก.2908) และ

  • PRCD (มอก.2910), SPE-PRCD (มอก.2909) และ IC-CPD (มอก.2911) เป็นต้น 

 

หากวิศวกรไฟฟ้าหรือช่างไฟท่านใด ต้องการตู้ควบคุมไฟฟ้า รางไฟคุณภาพดี ทนทุกสภาพการใช้งาน และตรงตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 

LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo

Facebook: facebook.com/KJLElectric