วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต คืออะไร ติดตั้งอย่างไรให้ถูกต้อง

2023 - 09 - 05

วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ

ตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า ปี พ.ศ. 2564 ได้ให้ชื่อเฉพาะสำหรับวงจรไฟฟ้า เพื่อให้สามารถใช้งานได้ในภาวะฉุกเฉินโดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุที่ต้องหนีภัย ว่าเป็น “วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต” 

 

วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต คืออะไร

วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต คือ วงจรไฟฟ้าที่ออกแบบมา ให้มีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน อาจเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า  แบตเตอรี่ หรืออื่นใด ที่สามารถจ่ายไฟให้กับวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิตได้อย่างเหมาะสม และในระยะเวลาที่นานเพียงพอ ที่จะครอบคลุมความต้องการในการใช้ไฟฟ้าของระบบวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต รวมถึงส่วนที่จำเป็นต้องให้วงจรมีไฟฟ้าใช้ให้นานที่สุดด้วยเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน 

ทั้งนี้การมีไฟฟ้าจ่ายให้ระบบวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิตนี้ จะต้องไม่ถูกกระทบจากเหตุใด ๆ ที่ทำให้ไม่มีไฟฟ้าจ่ายให้ได้ เช่น การปลด หรืองดจ่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ หรือเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น

 

วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต มีระบบอะไรบ้าง

วงจรไฟฟ้าที่จำเป็นต้องสามารถใช้งานได้อย่างดีในภาวะฉุกเฉิน หรือวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต ได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ จำนวน 7 ระบบ ได้แก่

  • ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน ไปยังแผงจ่ายไฟฟ้าฉุกเฉิน เพื่อการหนีภัยหรือช่วยชีวิต 

  • ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ และระบบสื่อสารฉุกเฉินสำหรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้

  • ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน

  • ระบบอัดอากาศสำหรับบันไดหนีไฟ

  • ระบบดูดและระบายควัน รวมทั้งระบบควบคุมการกระจายของไฟและควัน

  • ระบบเครื่องสูบน้ำและระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

  • ระบบลิฟต์ดับเพลิง

 

การเดินสายไฟสำหรับวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต

ในส่วนของการเดินสายไฟฟ้า สำหรับวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต สายไฟฟ้า เครื่องประกอบการเดินสาย และวิธีการเดินสาย ต้องมีการออกแบบและติดตั้งที่ให้ความมั่นใจได้ว่า จะมีสภาพเรียบร้อยสมบูรณ์

  • สามารถปลอดจากความเสียหาย ที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพ และทางเคมี หรืออื่นใด พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

  • สามารถจ่ายไฟฟ้า รวมทั้งทำงานได้อย่างปลอดภัยในสภาวะที่ถูกเพลิงไหม้

  • สามารถทนต่อการถูกกระทำทางกายภาพจากการเกิดเพลิงไม้ รวมถึงการถูกฉีดน้ำดับเพลิง

  • สายไฟฟ้าที่เปลือกนอกมิใช่โลหะ จะต้องเดินสายในช่องเดินสายโลหะ

 

มาตรฐานการทนไฟของวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต

สายเมนไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ สำหรับระบบวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต จะต้องมีมาตรฐานการทนไฟตามข้อกำหนดของแต่ละระบบ ได้แก่

 

สายไฟฟ้าทนไฟได้ตามมาตรฐาน BS 6387 

ในระดับชั้น CWZ หรือสายเคเบิลชนิดเอ็มไอ สามารถใช้กับระบบวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิตสำหรับ

  • (1) ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน ไปยังแผงจ่ายไฟฟ้าฉุกเฉิน เพื่อการหนีภัยหรือช่วยชีวิต 

  • (4) ระบบอัดอากาศสำหรับบันไดหนีไฟ 

  • (5) ระบบดูดและระบายควัน รวมทั้งระบบควบคุมการกระจายของไฟและควัน

  • (6) ระบบเครื่องสูบน้ำและระบบดับเพลิงอัตโนมัติ 

  • (7) ระบบลิฟต์ดับเพลิง

 

สายไฟฟ้าทนไฟได้ตาม มอก. 2755 หรือ IEC 60331 

หรือเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแต่ละมาตรฐานฯ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีคุณสมบัติการปล่อยก๊าซกรดตาม มอก. 2757 หรือ IEC 60754-1 และ IEC 60754-2 รวมถึงมีคุณสมบัติการปล่อยควันตาม มอก. 2758 หรือ IEC 61034-2 สามารถใช้กับระบบวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิตสำหรับ

  • (2) ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้และระบบสื่อสารฉุกเฉินสำหรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 

  • (3) ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน

วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยชีวิตผู้คนในภาวะฉุกเฉิน อย่างการเกิดเพลิงไหม้ ดังนั้นช่างไฟฟ้าควรให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเดินสาย หรืออุปกรณ์ที่ใช้ก็ตาม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด

 

หากวิศวกรไฟฟ้าหรือช่างไฟท่านใด ต้องการตู้ไฟ รางไฟคุณภาพดี ทนทุกสภาพการใช้งาน และตรงตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ 

LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo

Facebook: facebook.com/KJLElectric